ราคาน้ำมันดิบลด หลังตลาดกังวลกับการปรับเพิ่มของอุปทานน้ำมันดิบ

– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังตลาดกังวลกับการปรับเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันดิบโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ หลัง Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ก.พ. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 26 แท่น สู่ระดับ 791 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 58

– ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Forties ที่ทะเลเหนือปรับเพิ่มการขนส่งน้ำมันดิบรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Forties กลับมาขนส่งน้ำมันอีกครั้งหลังหยุดไปในวันพุธที่ผ่านมาจากการปิดซ่อมของวาล์วควบคุมที่สก๊อตแลนด์ โดยท่อขนส่งน้ำมันนี้สามารถลำเลียงน้ำมันได้ในปริมาณ 450,000 บาร์เรลต่อวัน

– ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากอิหร่านคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังนาย Amir Zamaninia รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงน้ำมันกล่าวว่า อิหร่านมีแผนที่เพิ่มจะกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 700,000 บาร์เรลต่อวัน ให้อยู่ที่ระดับ 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใน 4 ปีข้างหน้า


ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังถูกกดดันจากการส่งออกน้ำมันดีเซลจากเอเชียและตะวันออกกลางไปยังยุโรปไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 57 – 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยของการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ผลิตปรับเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้มีการปรับการคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 61 ขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สู่ระดับ 10.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นปรับเพิ่มขึ้นราว 1.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 10.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบเพื่อไปกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงฤดูการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จับตาความสัมพันธ์ระหว่างเวเนซุเอลาและสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ กำลังพิจารณาคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา โดยอาจมีการจำกัดการนำเข้าน้ำมันดิบเวเนซุเอลาสู่สหรัฐฯ และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของสหรัฐฯ สู่เวเนซุเอลา