บาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ในช่วงเทศกาลวันคริสมาสต์

บาท
ภาพ : pixabay

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ในช่วงเทศกาลวันคริสมาสต์ ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเล็กน้อย นักลงทุนเชื่อเงินเฟ้อของสหรัฐผ่านจุดสูงสุดแล้ว ขณะที่ปัจจัยในประเทศคาดส่งออกของไทยชะลอตัวลงจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก แต่จะได้รับปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยว คาดมีการเลือกตั้งทั่วไปในไตรมาส 2/2566

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/12) ที่ระดับ 34.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/12) ที่ระดับ 34.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเล็กน้อยท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงไร้ทิศทาง

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23/12) สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) เปิดเผยรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE Price Index) เดือนพฤศจิกายนขยายตัวอยู่ที่ 4.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยถือเป็นการชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 5.0% และนับเป็นการชะลอตัวเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

ด้วยเหตุนี้ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าเงินเฟ้อสหรัฐผ่านจุดสูงสุดแล้ว และปรับลดการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในอนาคตลง ถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งก็ตาม โดยมีรายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพฤศจิกายนขยายตัวอยู่ที่ 0.2% สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์และเดือนก่อนหน้าที่ 0.1% และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานยอดขายบ้านใหม่เดือนพฤศจิกายน 640,000 ยูนิต สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 600,000 ยูนิต และเดือนก่อนหน้าที่ 605,000 ยูนิต

ตัวเลขดังกล่าวส่งสัญญาณว่าภาคการผลิตและการจ้างงานสหรัฐยังคงขยายตัว นอกจากนี้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงภายหลังมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.7 ในเดือนธันวาคมสูงกว่าตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นและการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 59.1 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 56.8 โดยได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งนี้ปริมาณการซื้อขายในตลาดเงินเบาบางเนื่องจากเป็นวันหยุดในช่วงเทศกาลคริสมาสต์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร แสดงความเห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่าปัจจัยด้านการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทย ภายหลังจำนวนนักท่องเที่ยวปลายปี 2565 เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้มีการปรับคาดการณ์นักท่องเที่ยวปีหน้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 20 ล้านคน

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยอาจชะลอตัวลงจากผลกระทบของการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงขาดดุล เรื่องความมั่นคงทางการเมืองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องจับตาดูต่อไป โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในไตรมาส 2 ปี 2566

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 34.72-34.78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (26/12) ที่ระดับ 1.0616/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/12) ที่ระดับ 1.0603/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินยูโรแข็งค่าเล็กน้อยตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ระหว่างยุโรปและรัสเซียภายหลังการคว่ำบาตรครั้งล่าสุดของกลุ่มผู้นำ G7 และสหภาพยุโรป โดยมีการกำหนดเพดานราคารับซื้อน้ำมันจากรัสเซียและมีรายงานข่าวการตอบโต้กันโดยรัสเซียอาจปรับลดกำลังการผลิตแลจะไม่ขายน้ำมันให้กับประเทศที่ให้การสนับสนุนส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0614-1.0631 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0624/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/12) ที่ระดับ 132.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/12) ที่ระดับ 131.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนมีแรงเทขายทำกำไรจากนักลงทุนหลังแข็งค่าในช่วงสัปดาห์ผ่านมา ภายหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นมีการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ระะหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.38-132.91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.87/90 เยน/ดอลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานยอดขายที่อยู่อาศัยที่ปิดการขาย (28/12), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (29/12) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโก (30/12)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.50/-10.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -18.00/-14.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ