แบงก์พร้อมใจประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ยกแผง 0.40% มีผลทันทีปีใหม่นี้

ธนาคารพาณิชย์ ATM

แบงก์ประกาศขึ้นดอกเบี้ยตระกูล M ยกแผง 0.40% ตามนโยบาย ธปท. ที่ให้กลับมาเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ที่ 0.46% เท่าเดิม โดยมีผลตั้งแต่ช่วงปีใหม่ 2566 นี้เป็นต้นไป

วันที่ 1 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่อัตรา 0.46% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไปนั้น จากที่เคยปรับลดลงเหลืออัตรา 0.23% ต่อปี เป็นกรณีพิเศษในช่วงปี 2563-2565 เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีแนวทางให้สถาบันการเงินกลับมาส่งเงินเข้า FIDF ในอัตราเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไปนั้น

ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่างออกมาประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยตระกูล M ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งรายย่อย และ ผู้ประกอบธุรกิจทั้งรายกลางและรายใหญ่ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR), อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และ อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR)

“ไทยพาณิชย์” เริ่มทันที 1 ม.ค.

โดยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นำร่องประกาศเป็นแบงก์แรก ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MRR จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.12% จะปรับขึ้นเป็น 6.52% ต่อปี อัตราดอกเบี้ย MLR จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.75% เป็น 6.15% ต่อปี และ อัตราดอกเบี้ย MOR จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.345% เป็น 6.745% ต่อปี

“กรุงไทย-กรุงศรี” มีผล 3 ม.ค.

ขณะที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ประกาศตามมา โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR ในอัตรา 0.40% เช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR ปรับขึ้นเป็น 6.15% ขณะที่อัตราดอกเบี้ย MOR ปรับขึ้นเป็น 6.72% และอัตราดอกเบี้ย MRR ปรับขึ้นเป็น 6.77% ต่อปี

เช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา 0.40% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR เพิ่มขึ้นเป็น 6.48%, อัตราดอกเบี้ย MOR เพิ่มขึ้นเป็น 6.725% และ อัตราดอกเบี้ย MRR เพิ่มขึ้นเป็น 6.65%