ดอลลาร์ร่วง หลังจีนประกาศเปิดประเทศ มีผล 8 ม.ค. 2566

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐร่วง หลังจีนประกาศเปิดประเทศ มีผล 8 ม.ค.2566  ขณะที่สัญญาณภาคการผลิตและการจ้างงานสหรัฐยังคงขยายตัว หลายประเทศยังกังวลตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดของจีนจะเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามมา

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 13-16 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (26/12) ที่ระดับ 34.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/12) ที่ระดับ 34.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเล็กน้อยท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงไร้ทิศทาง โดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) เปิดเผยรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE Price Index) เดือนพฤศจิกายนขยายตัวอยู่ที่ 4.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์โดยถือเป็นการชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 5.0% และนับเป็นการชะลอตัวเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

เชื่อเงินเฟ้อสหรัฐผ่านจุดสูงสุดแล้ว

ด้วยเหตุนี้ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าเงินเฟ้อสหรัฐผ่านจุดสูงสุดแล้วและปรับลดการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในอนาคตลงถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งก็ตาม โดยมีรายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพฤศจิกายนขยายตัวอยู่ที่ 0.2% สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์และเดือนก่อนหน้าที่ 0.1% และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานยอดขายบ้านใหม่เดือนพฤศจิกายน 640,000 ยูนิต สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 600,000 ยูนิต และเดือนก่อนหน้าที่ 605,000 ยูนิต

ตัวเลขดังกล่าวส่งสัญญาณว่าภาคการผลิตและการจ้างงานสหรัฐยังคงขยายตัว นอกจากนี้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงภายหลังมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.7 ในเดือนธันวาคมสูงกว่าตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นและการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 59.1 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 56.8 โดยได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ปริมาณการซื้อขายในตลาดเงินเบาบาง เนื่องจากเป็นวันหยุดในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ อย่างไรก็ดีนักลงทุนขายดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และเข้าถือครองสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากจีนประกาศเปิดประเทศเร็วกว่าคาดทั้งขาเข้าและขาออกในเดือนมกราคม

จับตาจีนเปิดประเทศ 8 ม.ค.66

โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของจีนแถลงว่าจีนจะกลับมาดำเนินการออกวีซ่าให้กับชาวจีนที่อาศัยในแผ่นดินใหญ่สำหรับการเดินทางออกนอกประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 ทางด้านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงว่า จีนจะยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 หลังจากที่มีการบังคับใช้มานาน 3 ปีเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ดียังมีความวิตกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่สุดเป็นอันดับสองของโลก อีกทั้งสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานเริ่มคลายความร้อนแรง และอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.52-34.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.65/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดในวันจันทร์ (26/12) ที่ระดับ 1.0616/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/12) ที่ระดับ 1.0303/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าเล็กน้อยตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยยังมีปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ระหว่างยุโรปและรัสเซียภายหลังการคว่ำบาตรครั้งล่าสุดของกลุ่มผู้นำ G7 และสหภาพยุโรป หลังมีการกำหนดเพดานราคารับซื้อน้ำมันจากรัสเซียและมีรายงานข่าวการตอบโต้กันโดยรัสเซียอาจปรับลดกำลังการผลิตและจะไม่ขายน้ำมันให้กับประเทศที่ให้การสนับสนุนส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid policies) อย่างกะทันหันของจีน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นในจีน และเกิดความกังวลว่าจะเกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อิตาลีได้วางแผนตรวจเชื้อโควิด-19 กับผู้เดินทางจากจีน หลังพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้โดยสารใน 2 เที่ยวบินล่าสุดจากจีนนั้น มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก และเป็นสายพันธุ์โอมิครอน

ท่าที EC ต่อการตรวจโควิดนักท่องเที่ยวจีน

ทั้งนี้ จนถึงขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ปฏิเสธที่จะทำตามอิตาลี โดยมองว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีอยู่ในยุโรปอยู่แล้ว และไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ EC ระบุเสริมว่าจะยังคงเฝ้าระวังและพร้อมใช้มาตรการฉุกเฉินหากจำเป็น ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ ค่าเงินยูโรมีกรอบระหว่าง 1.0603-1.0690 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (30/12) ที่ระดับ 1.0650/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (26/12) ที่ระดับ 132.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/12) ที่ระดับ 131.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนมีแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนหลังแข็งค่าในช่วงสัปดาห์ผ่านมา ภายหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นมีการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตร

ในวันอังคาร (27/12) รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผย ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันในเดือน พ.ย.เมื่อเทียบรายปี หลังยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 บริเวณพรมแดน ขณะที่เงินอุดหนุนด้านการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐมีส่วนช่วยผลักดันอุปสงค์ผู้บริโภคให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกเดือน พ.ย.ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. เนื่องด้วยราคาของสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี บ่งชี้ว่าราคาสินค้ามีการปรับตัวขึ้นเป็นวงกว้าง การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ หลังจากที่หดตัวลงอย่างไม่น่าเชื่้อในไตรมาส 3/2565

ทั้งนี้ อัตราเงินเติบโตของยอดขายประจำปี ซึ่งเป็นมาตรวัดการบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัวลงจาก 4.4% ในเดือน ต.ค. และ 4.8% ในเดือน ก.ย. ทั้งนี้ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่า โดยพุ่งขึ้นทะลุ 134 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ขานรับรายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประจำเดือนธันวาคม โดยระบุว่า แม้ BOJ สร้างความประหลาดใจต่อตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในการประชุม เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. แต่ BOJ ยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษต่อไป

BOJ คงดอกเบี้ยนโยบาย

ทางด้านกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย.ลดลง 0.1% ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากอุปสงค์ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรอ่อนแอลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา

ทั้งนี้ในการประชุมเมื่อวันที่ 19-20 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% แต่ BOJ ได้สร้างปรากฏการณ์ช็อกตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% ซึ่งตลาดตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มการเงิน หลังจากที่ BOJ รักษาจุดยืนในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษมาเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ดีค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์สู่กรอบ 133 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์สหรัฐ ทำกำไรหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.30-134.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (30/12) ที่ระดับ 131.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ