กระทุ้งเอสเอ็มอีทำบัญชีเดียวดันรัฐเพิ่มมาตรการเสริม ดอกเบี้ยกู้ 5%

ปี 2561 ถือเป็นปีสุดท้ายสำหรับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี จะต้องเร่งมือในการปรับตัวด้านการจัดทำ “บัญชีเดียว” กันแล้ว เนื่องจากปีหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 จะเริ่มบังคับใช้นโยบายมาตรฐานบัญชีเดียว

เรื่องการเลี่ยงจ่ายภาษีของเอสเอ็มอีนั้น จะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ส่วนใหญ่จะทำ “บัญชีหลายเล่ม”กัน เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีทางธุรกิจ จนเมื่อปี 2559 กระทรวงการคลังได้กระตุ้นให้ธุรกิจเอสเอ็มอี หันมาจัดทำ “บัญชีชุดเดียว” ด้วยการออกพระราชกำหนดการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่แสดงเจตจำนงมา “จดแจ้ง” หรือลงทะเบียนกับกรมสรรพากร เมื่อ 15ม.ค.-15 มี.ค. 2559 จะ “ไม่ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง”ในส่วนบัญชีก่อน 1 ม.ค. 2559

นอกจากนี้ยังมีพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายเป็นการจูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าจดแจ้ง โดยจะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับกำไรสุทธิปี”59 และยกเว้นกำไรเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 3 แสนบาทแรกสำหรับกำไรสุทธิที่เกิดในปี 2560 ด้วย

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เข้ามากำหนดให้แบงก์ทุกแห่ง จะต้องให้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่มาขอสินเชื่อ จะใช้บัญชีชุดเดียวกับที่ยื่นกรมสรรพากร

นับเป็นความพยายามของรัฐบาลและธปท. ที่โหมโรงให้เอสเอ็มอีปรับเปลี่ยนตัวเอง เข้ามาอยู่ในระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับระดับหนึ่ง และปีนี้ก็ยังต้องทำต่อเนื่อง เพราะ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง กล่าวว่า หลังให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาจดแจ้งทำบัญชีเล่มเดียวไว้กับกรมสรรพากรราว 5 แสนราย ก็พบว่า ขณะนี้ยังมีเอสเอ็มอีทำบัญชีไม่ถูกต้องอีกครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

“ต้นปี 2562 การกู้เงินจากแบงก์ ต้องใช้บัญชีเล่มเดียวกับที่ยื่นต่อกรมสรรพากร เพื่อใช้เป็นตัววิเคราะห์สินเชื่อ ดังนั้นถ้ายังทำไม่ถูก ผู้ประกอบการก็จะไม่ได้เงิน” รมว.คลังกล่าว

ฟาก “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ก็ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า ในปีนี้ ธปท.จะประกาศเกณฑ์ที่จะให้แบงก์ปฏิบัติ ก่อนที่จะเริ่มบังคับใช้จริงปี 2562 และจะมี “มาตรการจูงใจ” ให้เอสเอ็มอีใช้บัญชีชุดเดียวในการยื่นขอสินเชื่อจากแบงก์ต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย

นั่นก็คือหนังสือเวียนของ ธปท. เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แจ้งให้ทุกแบงก์ดำเนินการ “ส่งเสริมให้มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่สะท้อนภาพที่แท้จริงของกิจการ” มากขึ้นในช่วงก่อนจะถึงปี 2562 ซึ่งในการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (นิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท) ทุกแบงก์ต้องให้ความสำคัญต่อบัญชีชุดที่แสดงต่อสรรพากร รวมถึงให้ความสำคัญต่อความสามารถในการชำระหนี้ และระดับความเสี่ยงของลูกค้า จะต้องนำปัจจัยเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพอื่น ๆ ที่สะท้อนศักยภาพ ในการดำเนินงานและขยายธุรกิจ มาพิจารณาร่วมด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ก็ได้ร่วมกันแถลงถึงมาตรการจูงใจ ระหว่าง ธปท.กับสมาคมธนาคารไทย โดย “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า 5 แบงก์ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จับมือกันทำ “โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ” เพื่อเป็นมาตรการจูงใจผู้ที่ทำบัญชีชุดเดียว โดยแบงก์จะคิดดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ถูกกว่าดอกเบี้ยปกติที่จะเฉลี่ยคิดที่ 8% ทั้งนี้ สำหรับการใช้บัญชีชุดเดียวในการขอสินเชื่อได้ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2561-31 ม.ค. 2563

“เอสเอ็มอีที่จดแจ้งกับกรมสรรพากร อยู่ที่ประมาณ 4.5 แสนราย จากเอสเอ็มอีทั้งหมดที่มีราว 6 แสนราย ดังนั้นที่เหลืออีก 1.5 แสนราย ก็หวังว่าจะปรับเปลี่ยนมาใช้บัญชีชุดเดียวด้วย” นายปรีดีกล่าวและว่า เอสเอ็มอีที่ทำบัญชีเดียวจะทำให้แบงก์มีฐานข้อมูลที่ชัดเจน สามารถวิเคราะห์เพื่อให้สินเชื่อได้ง่ายขึ้น และตามทฤษฎีก็น่าจะทำให้ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อลดลงด้วย

ส่วน “สมบูรณ์ จิตเป็นธม” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ยืนยันว่า ธปท.ไม่ได้บังคับว่า หลังวันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป ห้ามแบงก์ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีที่ไม่ได้ทำบัญชีชุดเดียว เพียงแต่ว่าเอสเอ็มอีที่ทำบัญชีไม่โปร่งใส อาจจะได้รับวงเงินสินเชื่อลดลง หรือแบงก์อาจจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเอสเอ็มอีรายอื่นที่ทำบัญชีถูกต้อง เพราะมีความเสี่ยงมากกว่า

ทั้งนี้ แนวทางที่ ธปท.ให้สถาบันการเงินนำไปปฏิบัตินั้น จะสะท้อนฐานะการเงินที่โปร่งใสของเอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินนำไปวิเคราะห์สินเชื่อ และบริหารความเสี่ยงของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น

ด้าน “สยาม ประสิทธิศิริกุล” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SMEs ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังมีหลายบัญชีอยู่ จึงต้องค่อย ๆ ปรับ เพราะเมื่องบการเงินถูกต้องก็ทำให้ความสามารถในการปล่อยกู้ของธนาคารเพิ่มมากขึ้น ส่วนการให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 5% น่าจะช่วยจูงใจระดับหนึ่ง เพราะจะได้ผลกับกลุ่มเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายใหญ่มากกว่า เขามีความพร้อมจะเข้าสู่บัญชีเดียวอยู่แล้ว แต่ว่าจริง ๆ แล้วการที่จะสร้างให้เอสเอ็มอีโดยรวม เข้าระบบทำบัญชีเดียวทั้งหมด คงจะต้องทำจากหลายภาคส่วนทั้งสรรพากรและภาคธนาคาร

“เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังมีหลายบัญชีอยู่ ต้องค่อย ๆ ปรับกันไปตามธรรมชาติซึ่งทั้งภาครัฐก็ต้องดันให้เข้าระบบทางอ้อม ในส่วนของแบงก์เราก็ให้ดอกเบี้ย 5% ก็ถือว่าจูงใจได้ระดับหนึ่ง แต่บางคนมีปัญหาจากฝั่งคู่ค้า เช่น สมมุติว่ามีร้านค้าที่ทำถูกต้องจึงบวกภาษีมูลค่าเพิ่มไปกับสินค้า แต่กลับมีร้านค้าที่ทำผิดคือไม่คิดภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้สินค้าถูกกว่า ลูกค้าก็เลือกซื้อจากร้านที่ถูกกว่า เป็นต้น” นายสยามกล่าว

มาตรการ “ไม้นวม” จะต้อนเอสเอ็มอีทำบัญชีชุดเดียวได้ทั้งหมดหรือไม่ หรือจะต้องยกระดับความร่วมมือมากกว่านี้