ชง ก.ล.ต.อุดช่องโหว่ตั๋วบีอี ปรับเกณฑ์ชำระหนี้ใหม่-เร่งสรุปในปีนี้

เอฟเฟ็กต์เบี้ยวหนี้ตั๋วบีอี สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เตรียมหารือ ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์มาตรฐานข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้/ตั๋วบีอี เพิ่มสิทธิเรียกประชุม เพื่อเรียกร้องชำระหนี้โดยด่วน พร้อมเพิ่มเงื่อนไขผิดนัดชำระหนี้แบบไขว้ หวังอุดช่องโหว่ คาดมีข้อสรุปชัดเจนภายในปีนี้ ด้านยอดผิดนัดชำระหนี้ 4 บริษัทพุ่งแตะ 3.7 พันล้านบาท

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากผลกระทบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของตั๋วบีอีและหุ้นกู้ ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นกู้โดยเฉพาะรายย่อย เนื่องจากเกณฑ์กำกับเดิมไม่สามารถกำกับดูแลได้ ล่าสุดสมาคมเตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรฐานข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้/ตั๋วบีอี ให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิมค่อนข้างล้าสมัย เพราะใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2545 จึงไม่เอื้อต่อการบังคับใช้ในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะส่งเรื่องให้ ก.ล.ต.เห็นชอบและปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จได้ภายในปีนี้

ขณะนี้สมาคมได้จัดตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันพิจารณา อาทิ ตัวแทนจาก ก.ล.ต., ผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ (อันเดอร์ไรเตอร์), ผู้แทนกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้, และ ThaiBMA เป็นต้น และที่ผ่านมาได้จัดประชุมกันไปแล้ว 2 รอบ

สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะปรับปรุงนั้น จะมีเรื่องของการทบทวนข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ใหม่ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาทิ การให้อำนาจผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อเรียกสิทธิหุ้นกู้ให้ครบกำหนดโดยทันทีได้ (สิทธิในการเรียกร้องชำระหนี้โดยด่วน) ซึ่งแม้เดิมมีข้อกำหนดดังกล่าวอยู่แล้ว แต่เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุระยะเวลาเอาไว้ที่ชัดเจน ว่าต้องดำเนินการภายในกี่วัน หลังถูกผิดนัดชำระหนี้ จึงเกิดเป็นช่องโหว่ที่ส่งผลให้การเรียกร้องสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ทำได้ล่าช้า

ขณะเดียวกันอาจจะมีการเพิ่มข้อกำหนดให้ผู้ออกหุ้นกู้ทุกราย ต้องทำเงื่อนไขการผิดนัดชำระหนี้แบบไขว้ (Cross Default) ยกตัวอย่างเช่น หากผู้มีการผิดนัดหนี้ประเภทใดประเภทหนึ่งตามมูลค่าที่กำหนดไว้ ผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทดังกล่าวก็มีสิทธิเรียกร้องให้มีการชำระเงินได้ จากเดิมที่หลักเกณฑ์ Cross Default เป็นเรื่องที่ไม่ได้บังคับ ซึ่งจะทำหรือไม่ทำก็ได้

“เราเตรียมเสนอให้ ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้โดยเฉพาะรายย่อย เนื่องจากที่ผ่านมามีกรณีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นต่อเนื่อง และหลักเกณฑ์เดิมค่อนข้างเก่า ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนที่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้มีความกังวลต่อการบังคับตามกฎหมายให้นำเงินมาชำระคืนแก่เจ้าหนี้ เพราะใช้ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ไม่เหมือนกับพวกธนาคารที่ค่อนข้างได้เปรียบเพราะสามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่า” นางสาวอริยากล่าว

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้เอกชนที่ยังไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ตามกำหนด ณ สิ้นไตรมาส 2/2560 อยู่ที่ 3,755 ล้านบาท คิดเป็น 0.12% ของมูลหนี้คงค้างรวม 3.2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย กรณีการผิดนัดชำระหนี้ของ บมจ.เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ (KC), บมจ.ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (RICH), บมจ.อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่คอร์ปอเรชั่น (IFEC) และ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH)

ส่วนหากรวมตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระแล้ว กับตราสารหนี้ที่ไม่ครบกำหนด และ Cross Default ของ 4 บริษัทดังกล่าว จะอยู่ที่ 14,253 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.48% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยกว่าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของแบงก์ที่มีอยู่ 2.94% หรือคิดเป็นมูลค่า 404,466 ล้านบาท