ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตลาดแรงงานส่งสัญญาณชะลอตัว

Dollar-US dollar
REUTERS/Dado Ruvic/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตลาดแรงงานส่งสัญญาณชะลอตัว โดยอัตราการว่างงานลดลงสู่ 3.5% ต่ำกว่าในเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 3.6% และนักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% ขณะที่เงินบาทแข็งค่า อานิสงส์จากมาตรการเปิดประเทศของจีน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/1) ที่ระดับ 33.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/1) ที่ระดับ 34.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลักหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลงจาก 256,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ 3.5% ต่ำกว่าในเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 3.6% และนักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6%

อย่างไรก็ตามค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานในเดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% โดยชะลอตัวจากระดับ 0.6% ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคบริการของสหรัฐในเดือนธันวาคม ปรับตัวลดลงสู่ภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 สู่ระดับ 49.6 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0 และระดับ 56.5 ในเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนความคิดเห็นของนักลงทุนว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านระดับสูงสุดมาแล้ว และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงประธานเฟดสาขาแอตแลนตาสำทับว่าข้อมูลดังกล่าวถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และได้ให้ความเห็นว่าหากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมนโยบายในครั้งถัดไปเฟดอาจพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ยชะลอตัวลงมาสู่ระดับ 0.25%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทได้รับอานิสงส์จากมาตรการเปิดประเทศของจีนซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ในวันที่ 8 มกราคม 2566 โดยนักลงทุนได้รับแรงหนุนให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดเอเชียอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นแรงหนุนภาคการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัว

ข้อมูลจำนวนผู้โดยสารของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางผ่านท่าอากาศยานของ ทอท. ประมาณ 7-10 ล้านคน จากเดิมที่ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีกว่า 20.5 ล้านคน รวมถึง ททท.คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะเดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 22 ล้านคน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.39-34.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.55/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/1) ที่ระดับ 1.0659/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/10) ที่ระดับ 1.0511/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรแข็งค่าตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้สำนักงานสถิติยุโรป Eurostat ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งรวมค่าอาหารและพลังงานปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกันสู่ระดับ 9.2% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ระดับ 9.6% และระดับ 10.1% ในเดือนพฤศจิกายน

รวมถึงนายมาริโอ เซนเตโน สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป ได้ให้ความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีใกล้แตะระดับสูงสุดหลังพบอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามเขาได้ย้ำว่าธนาคารกลางของยุโรปจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0652-1.0699 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0676/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/1) ที่ระดับ 131.83/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อศุกร์ (7/10) ที่ระดับ 134.26/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ปริมาณซื้อขายในระหว่างวันเป็นไปอย่างเบาบาง เนื่องจากเป็นวันหยุดเนื่องในวันบรรลุนิติภาวะ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.29-132.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ถ้อยคำแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (10/1) ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคมของสหรัฐ (12/1) จำนวนผู้ขอสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (12/1) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (13/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.60/-10.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -18.40/-16.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ