แบงก์เด้งรับ 5 กฎเหล็ก ธปท. ห้ามยุ่งเกี่ยวคริปโต-ก.ล.ต.จ่อออกกฎคุม

“แบงก์” เด้งรับ 5กฎเหล็ก ธปท. ห้าม “เปิดบัญชี-บัตรเครดิต” ซื้อขาย คริปโตเคอเรนซี่ แบงก์ตื่นตัวงัด KYC พิสูจน์ตัวตนของลูกค้าที่เปิดบัญชี กลต. เตรียมออกกฎคุมสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกหนังสือขอความร่วมมือ “ไม่ให้” ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี่ หรือเงินดิจิทัล ถือว่ามีความชัดเจนทำให้ลูกค้าจะมาทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี่กับธนาคารไม่ได้ ขณะเดียวกันธนาคารจะต้องมีวิธีการพิสูจน์ตัวตน (KYC) ที่เคร่งครัด

แหล่งข่าววงการเงินกล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีการเปิดบัญชีธนาคารพาณิชย์ เพื่อใช้ในการซื้อขายบิตคอยน์ ทาง ธปท.คงเห็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์ จึงได้ออกประกาศสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวบริการทำธุรกรรมเงินดิจิทัล

โดยเมื่อวันที่ 12 ก.พ. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ลงนามในประกาศหนังสือเวียน เรื่องขอความร่วมมือสถาบันการเงินทุกแห่ง”ไม่ให้” ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี่ เช่น บิตคอยน์ เนื่องจากผู้ทำธุรกรรมอาจ “ไม่ได้” รับความคุ้มครอง หากถูกหลอกลวงหรือเกิดปัญหาในการทำธุรกรรม นอกจากนี้การทำธุรกรรมอาจถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมายได้ เช่น การฟอกเงิน หรือการสนับสนุนการก่อการร้าย

ธปท.ขอความร่วมมือสถาบันการเงินทุกแห่ง ไม่ให้ทำธุรกรรมหรือมีส่วนร่วม 5 ด้าน ดังนี้ 1.การเข้าไปลงทุนหรือซื้อขายในคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อผลประโยชน์ของสถาบันการเงินเองหรือผลประโยชน์ของลูกค้า 2.การให้บริการรับแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี่ผ่านช่องทางให้บริการของสถาบันการเงิน 3.การสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นสื่อกลางให้ลูกค้าเข้าไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่ 4.การให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตในการซื้อคริปโตเคอเรนซี่ และ 5.การสนับสนุนหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนหรือการแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ ธปท.ได้ขอให้สถาบันการเงินทุกแห่งเพิ่มความระมัดระวังการให้บริการด้านเงินฝากและด้านสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการเปิดบัญชี หรืออาจนำไปสู่ธุรกรรมที่เกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่ โดยแบงก์จะต้องถือปฏิบัติในเรื่องการรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC) และดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (CDD) อย่างเคร่งครัด

นางทิพย์สุดา ถาวรามร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ร่วมหารือกับ ธปท.และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อหาทางกำกับดูแลสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทั้งที่ใช้ชำระราคา หรือสามารถซื้อขายระหว่างกันได้ ซึ่งปัจจุบันไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้นต้องหาช่องทางหรือกฎหมายให้ผู้กำกับมีอำนาจในการดูแล

โดยข้อสรุปคือต้องมีมาตรการกำกับดูแล ธุรกิจให้บริการหรืออำนวยความสะดวกในการซื้อขายดิจิทัล แอสเสต เช่นพวกนายหน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ ก.ล.ต. เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์ในปัจจุบัน ซึ่งต้องประเมินว่าจะใช้กรอบกฎหมายรูปแบบใดที่จะสามารถมอบอำนาจให้ ก.ล.ต.ในการกำกับดูแล

ส่วนการระดมทุนในรูปแบบเหรียญดิจิทัล (ICO) คาดจะได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ภายในสิ้นเดือนนี้ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็น และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการในระยะต่อไป