ระดมทุน ‘อีเอสจีบอนด์’ พุ่ง 5 แสนล้าน 40 ยักษ์ธุรกิจ ตั้งเป้าสู่ความยั่งยืน

กว่า 40 องค์กร ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ตั้งเป้า Net Zero การผลิตไร้ “คาร์บอน” นำโดย

1.บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (TBEV) ตั้งเป้า Net Zero Scopes 1&2 ภายในปี 2040 และ Net Zero Scopes 3 ภายในปี 2050 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ภายในปี 2030 (ปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 43%)

2.บมจ.ปตท. (PTT) ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 และเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050

3.บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็นกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงิน Net Zero ภายในปี 2050

4.บมจ.บ้านปู (BANPU) ตั้งเป้าภายในปี 2025 บรรลุเป้าหมาย 1.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจเหมืองลง 7% 2.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจไฟฟ้าลง 20%

5.บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) มุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050

6.บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050

7.บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ตั้งเป้า 1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2030 2.สร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และ 3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2060

8.บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 ด้วยแผน BCP NET

9.บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มุ่งสู้ Net Zero Cement & Concrete 2050

10.บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เข้าสู้ Net Zero ในปี 2060

ระดมทุน ‘อีเอสจีบอนด์’ กว่า 5 แสนล้าน

โดยฝั่งระดมทุนพบว่า ปิดสิ้นปี 2565 มีมูลค่าคงค้างตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG Bonds) ของไทย สูงกว่า 501,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% จากปี 2564 หรือคิดเป็น 3.2% ของตลาตราสารหนี้ไทย เป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลจาก 5 หน่วยงาน มูลค่า 3.1 แสนล้านบาท และอีก 1.92 แสนล้านบาท ออกโดย 22 บริษัทเอกชน

โดยสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา มียอดออก ESG Bonds รวมทั้งสิ้น 210,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน แยกเป็นการออก Sustainability Bond วงเงิน 127,384 ล้านบาท ตามมาด้วย Green Bond วงเงิน 41,209 ล้านบาท รองลงมาคือ Sustainability-Linked Bond: SLB วงเงิน 31,000 ล้านบาท และ Social Bond วงเงิน 11,400 ล้านบาท

BTS นำร่องเจ้าแรกขาย SLB แก่นักลงทุนรายย่อย

สำหรับ Sustainability-Linked Bond: SLB คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ออกกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ต้องการบรรลุผลสำเร็จและเชื่อมโยงความสำเร็จกับการจ่ายอัตราดอกเบี้ย โดย SLB รุ่นแรกออกเมื่อเดือน ก.ค.2564 โดย บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) วงเงิน 5,000 ล้านบาท จำกัดการขายเฉพาะนักลงทุนสถาบัน

ต่อมาช่วงเดือน พ.ย.2564 บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เสนอขายด้วยวงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการแก่นักลงทุนรายใหญ่เป็นครั้งแรก และในเดือนเดียวกันทาง TU ได้ออกขาย SLB เพิ่มอีกวงเงิน 6,000 ล้านบาท

ถัดมาในเดือน พ.ค.2565 ทาง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดขาย SLB แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ด้วยวงเงิน 11,000 ล้านบาท และล่าสุดในเดือน พ.ย.2565 ทาง BTS เปิดขาย SLB แก่นักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก ทั้งหมด 4 รุ่น วงเงินรวม 13,000 ล้านบาท

กำหนดตัวชี้วัด (KPI) และเป้าหมาย (SPT) 1.ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีเป้าหมายลดการใช้ไฟฟ้าให้ได้ 8% จากการดำเนินงานปกติภายในปี 2574

2.ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยหว่า 10% ในแต่ละปีของการใช้ไฟฟ้า สำหรับการดำเนินงานของรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ทั้งนี้หากทำไม่ได้ตามกาตัวชี้วัด โดยปกติจะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้นักลงทุน หรือต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย ซึ่งทาง BTS เลือกการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย