ปี’61 รัฐกู้ลงทุนทะลุแสนล้าน สบน.ชง ครม.ไม่เกิน 2 สัปดาห์

คลังปรับแผนกู้หนุนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ปีงบประมาณ 2561 กว่า 1 แสนล้านบาท เดินหน้าชงแผนบริหารหนี้สาธารณะเข้า ครม.ในอีก 2 สัปดาห์ เผยรัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท รัฐวิสาหกิจขอกู้ลงทุนเพิ่มอีก 8 พันล้านบาท “อภิศักดิ์” การันตีหนี้สาธารณะไม่เกิน 42% ของจีดีพี

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.กำลังดำเนินการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 1 โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในอีกราว 2 สัปดาห์ ซึ่งการปรับแผนรอบนี้ เนื่องจากมีการกู้เงินในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะต้องใช้เงินกู้เพิ่มเติม สำหรับลงทุนในโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ประมาณ 8,000 ล้านบาท จากเดิมที่แผนการจัดหาเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ได้มีกำหนดแผนการเบิกจ่ายเงินกู้ไว้ทั้งสิ้น 98,643 ล้านบาท

“โครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทางโครงการรถไฟฟ้าไทย-จีน และโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2561 ได้มีการเบิกจ่ายในส่วนของเงินกู้ไปแล้วจำนวน 10,001 ล้านบาท” นายประภาศกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่รัฐบาลได้จัดทำงบฯเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นงบประมาณแบบขาดดุล ที่จะต้องกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณเพิ่มอีก 100,000 ล้านบาท จากเดิม 450,000 ล้านบาทด้วย ทำให้ต้องกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 550,000 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาสแรกได้กู้ชดเชยการขาดดุลไปแล้ว 161,000 ล้านบาท

นายประภาศกล่าวว่า สบน.จะเน้นการระดมทุนในประเทศ โดยใช้การกู้เงินในรูปพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้อื่น ๆ เป็นหลัก ส่วนการกู้เงินตราต่างประเทศจะมีเพียงบางส่วน สำหรับโครงการที่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันการกู้เงินและการบริหารหนี้ของรัฐบาลปีนี้จะอยู่ภายใต้แผนบริหารความเสี่ยง ที่ครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงทั้งด้านอัตราแลกเปลี่ยน ด้านอัตราดอกเบี้ย และด้านการปรับโครงสร้างหนี้ โดยคำนึงถึงต้นทุนที่เหมาะสม

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สบน. กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกู้เพื่อลงทุนในปีงบประมาณนี้ หลังปรับแผนจะมีวงเงินเพิ่มเป็นกว่า 100,000 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนหน้าที่มีการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อลงทุนทั้งสิ้น 51,404 ล้านบาท โดยในส่วนของรถไฟไทย-จีนนั้น คาดว่าจะเบิกจ่ายราว 1,600-2,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินกู้ในประเทศ

ส่วนการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่หลังจบไตรมาสแรกแล้ว ยังเหลือวงเงิน 289,000 ล้านบาท และหากรวมงบฯเพิ่มเติมอีกจะเป็น 389,000 ล้านบาทนั้น จะต้องพิจารณาตารางการออกพันธบัตรรัฐบาลให้เหมาะสมในแต่ละช่วงอีกครั้ง โดยหากช่วงไหนไม่สามารถออกพันธบัตรระยะยาวได้ก็ต้องใช้วิธีกู้ระยะสั้นไปก่อน อย่างเช่น การออกเทอมโลน เป็นต้น แล้วค่อยไปแปลงเป็นพันธบัตรระยะยาวขึ้นภายหลัง

“แต่ถ้ากฎหมายหนี้สาธารณะ และกฎหมายเงินคงคลังที่แก้ไขใหม่ ให้สามารถกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องได้ และกู้เหลื่อมปีได้ หากมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ก็จะสามารถชะลอกู้ปีงบประมาณ 2561 แล้วไปกู้ในปีงบประมาณ 2562 ได้ ในกรณีมีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี” นายธีรัชย์กล่าว


ก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การทำงบฯเพิ่มเติมอีก 150,000 ล้านบาท ทำให้งบฯขาดดุลเพิ่มเป็น 550,000 ล้านบาท ไม่ได้ทำให้กระทบต่อฐานะการคลัง เนื่องจากประเมินว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะยังคงไม่เกิน 42% แม้จะต้องกู้เพิ่มเติมอีก 100,000 ล้านบาทก็ตาม