
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังขาดปัจจัยกระตุ้นแรงซื้อ IMF ชี้การเปิดประเทศของจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือน
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/1) ที่ระดับ 32.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/1) ที่ระดับ 32.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
- เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ 1 ธ.ค.นี้ เครดิตบูโรห่วงกู้ซื้อ “รถ-บ้าน” ค้างจ่ายพุ่ง
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- วันหยุดเดือนธันวาคม 2566 เช็กวันหยุด วันสำคัญ วันหยุดยาว-หยุดต่อเนื่อง
โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่องภายหลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ล่าสุดบ่งชี้ว่า สหรัฐอาจพ้นจุดเงินเฟ้อสูงสุดแล้ว สำหรับข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนวันศุกร์ (13/1) ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าประจำเดือนธันวาคม โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% หลังปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติและอาหาร
นอกจากนี้ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกนประจำเดือนมกราคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 64.6 ถือว่าแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 และสูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 60.7 จากการคลายกังวลของตลาดเกี่ยวกับเงินเฟ้อและสภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตาม นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนหลุยส์ ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า เฟดยังคงควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นให้สูงกว่าระดับ 5% โดยควรให้ไปสู่ระดับ 5.1% ภายในปีนี้ตามที่มีการคาดการณ์ไว้ รวมทั้งควรคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าว เพื่อรับประกันว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงสู่ระดับเป้าหมาย 2% ตามที่วางไว้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การอ่อนค่าต่อเนื่องของดอลลาร์สหรัฐ, การเปิดประเทศของจีน และมุมมองของต่างชาติต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศในภูมิภาคที่ปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า การเปิดประเทศของจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และยังเชื่อมั่นว่าสภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากมองว่าการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะไม่รุนแรง
นอกจากนี้ยังกล่าวว่าทาง IMF อาจไม่ปรับลดคาดการณ์ GDP โลก โดยอาจคงการคาดการณ์ไว้ที่ระดับเดิม 2.7% อย่างไรก็ตามยัคงมีปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าติดตามได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอน โดยส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะในยุโรป รวมทั้งนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.71-33.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.03/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/1) ที่ระดับ 1.0841/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/01) ที่ระดับ 1.0849/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของเงินดอลาร์สหรัฐ โดยตลาดจับตาดูรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ซึ่งเป็นตัวสะท้อนมุมมองตลาดที่ต่อภาพเศรษฐกิจยุโรป รวมทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อของอังกฤษ และยูโรโซน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0802-1.0873 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0802/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเมื่อวันนี้ (16/1) ที่ระดับ 127.82/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/01) ที่ระดับ 128.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดจับตารอดูผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคมของญี่ปุ่น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 127.23-128.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 128.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐ (PPI) ประจำเดือนธันวาคม (10/1), ยอดค้าปลีกสหรัฐ ประจำเดือนธันวาคม (12/1), การผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม (12/1), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีการผลิตประจำเดือนมกราคม และยอดข้ายบ้านมือสองประจำเดือนธันวาคม (13/1)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.252/-10.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.00/-5.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
- กรุงศรี คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 32.50-33.30 บาท/ดอลลาร์
- บาทแข็งรั้งทองไทยไม่ทะลุ 30,000 สวนทางทองคำโลกพุ่งขึ้นใกล้พีก