ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (26/7) ที่ระดับ 33.48/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC)ของธนาคารกลางสหรัฐ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ (26/7) ตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ และในขณะเดียวกันเฟดได้ส่งสัญญาณที่จะเริ่มปรับลดงบดุลจากปัจจุบันที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยทางคณะกรรมการคาดหวังว่าจะเริ่มทำการปรับลดงบดุลเข้าสู่ภาวะปกติในไม่ช้า ซึ่งคณะกรรมการได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ถ้อยคำในแถลงการณ์จากเดิมที่ใช้คำว่า “ในปีนี้” เป็น “ในไม่ช้า” ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่าเป็นระบุว่าเป็นการบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับลดงบดุลในการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งต่อไป นอกจากนี้ การแถลงการณ์ของเฟดในการประชุมยังระบุอีกว่า การปรับตัวของเศรษฐกิจจะสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่เฟดจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ส่วนความเสี่ยงในระยะใกล้นั้น เฟดระบุว่ายังคงมีความสมดุล โดยเศรษฐกิจมีการขยายตัวปานกลางในปีนี้ ขณะที่ตลาดแรงงานมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง โดยการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้้น และอัตราว่างงานปรับตัวลดลง ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมานั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน ยังคงปรับตัวลดลง และยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ยังคงกดดันค่าเงินดอลลาร์ต่อไป

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2560 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3-3.9) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวดีและกระจายในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ตามการใช้จ่ายอุปโภคและการลงทุนภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.29-33.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.30/32 บาท/ดอลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (27/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1734/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (26/7) ที่ระดับ 1.1625/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากสถาบันวิจัย GfK เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีเดือนสิงหาคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 10.8 จากระดับ 10.6 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและสถานะการเงินของตนในเดือนข้างหน้า ผนวกกับค่าเงินยโรยังคงปรับตัวแข็งค่าหลังจากที่เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในค่ำคืนที่ผ่านมา (26/7) ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1713-1.1776 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1724/1.1726 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (27/7) เปิดตลาดที่ระดับ 111.08/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (26/7) ที่ระดับ 111.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนในวันนี้ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและระบุว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้นักลงทุนหันมาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 110.80-111.33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 111.25/111.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และตัวเลข GDP

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.25/-0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.9/-1.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ