ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า

US dollar
(file photo) REUTERS/Mohamed Azakir

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 ขณะที่ปัจจัยในประเทศ นักลงทุนคาดธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมวันที่ 25 ม.ค.นี้ 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 24 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/1) ที่ระดับ 32.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (23/1) ที่ระดับ 32.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวแนวโน้มอ่อนค่าหลัง Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวลงร้อยละ 1.0 ในเดือนธันวาคมมากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลงร้อยละ 0.7 โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงไม่สู้ดีนักและทำให้นักลงทุนปรับลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างแข็งกร้าว

ซึ่งสะท้อนให้เห็นจาก CME FedWatch Tool โดยนักลงทุนให้น้ำหนักร้อยละ 99.0 ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ (1/2) แม้ว่าสัปดาห์นี้เจ้าหน้าที่เฟดเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน (Black Period) นักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินเฟดต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีความเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 1.50 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันพรุ่งนี้ (25/1) โดยคาดการณ์ว่าจะไม่เร่งปรับขึ้นมากกว่านี้ เนื่องจากในเดือนมกราคมจะมีการปรับขึ้นอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากร้อยละ 0.23 สู่ระดับร้อยละ 0.46 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมเงิน

และมีความเห็นว่า กนง.ยังคงจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดเพื่อหาจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสม สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี 2566 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.0 ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.72-32.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/1) ที่ระดับ 1.0873/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (23/1) ที่ระดับ 1.0897/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ -20.9 แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามมีรายงานถ้อยแถลงของนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งติดต่อกันและจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปจนกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายร้อยละ 2.0

นอกจากนี้ นายคาส น็อต และนายปีเตอร์ คาซิมีร์ กรรมการ ECB ให้การสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยมีความเห็นว่า ECB ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 อีก 2 ครั้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0863-1.0897 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0871/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/1) ที่ระดับ 130.42/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (23/1) ที่ระดับ 129.889/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีจะเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์

โดยตลาดกำลังจับตาดูว่าภายใต้การมาของผู้ว่าการคนใหม่ ทาง BOJ จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินผ่อนคลายพิเศษของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการคนปัจจุบัน เป็นนโยบายการเงินแบบตึงตัวหรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 129.73-130.44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 130.24/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (24/1), คำสั่งซื้อสินค้าคงทน (26/1), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (26/1), ยอดขายบ้านใหม่ (26/1) และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (27/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.50/-10.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -12.00/-6.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ