“ประสาร” ปฏิรูประบบการคลัง รื้อสภาพัฒน์-ชงเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า

“ประสาร” ชงแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ รีดภาษีขยายฐาน เก็บอัตราก้าวหน้า เพิ่มศักยภาพด้านการคลัง หวังมีรายได้ต่อจีดีพีสูงขึ้น ปฏิวัติทรัพย์สินรัฐวิสาหกิจ รื้อจ็อบเดสคริปชั่นสภาพัฒน์ สำนักงบฯ รองรับธุรกิจ-อุตสาหกรรม “โลกใหม่”

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ แถลงความคืบหน้าการปฏิรูปว่า จุดประสงค์ของการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้แข่งขันได้ กระจายทั่วถึงและมีความยั่งยืน มี 3 ด้าน ได้แก่ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ประกอบด้วย การเพิ่มผลิตภาพ เน้นภาคการผลิตและบริการที่มีความชำนาญ เช่น เกษตร อาหาร ท่องเที่ยว ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ชีวภาพ การรักษาพยาบาล อุตสาหกรรมการศึกษา โดยเสริมทักษะบุคลากร แก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค การใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อขยายตลาดและสร้างฐานการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน หรือ CLMV แต่ต้องมองไกลออกไป เช่น พม่า บังกลาเทศ และภาคเหนือของอินเดีย ลดอุปสรรคในการค้าการลงทุน และเศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนด้วยความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ส่งเสริมการคิดทรัพย์สินทางปัญญา

นายประสารกล่าวว่า ด้านที่ 2 การสร้างความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ระดับบุคคล ระดับชุมชน และระดับประเทศ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเสนอจัดตั้งสำนักงานบูรณาการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เพื่อคิดอ่านและวางทิศทาง กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ อาจจะออกแบบองค์กรใหม่หรือวิธีปรับบทบาทองค์กรที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและต้องทำโดยเร็ว เพราะเป็นโจทย์ปัจจุบันและต้องเผชิญหน้าในอนาคต ไม่ใช่เพียงการเก็บสถิติที่มีอยู่ในขณะนี้ เช่น สภาพัฒน์

สำหรับด้านที่ 3 การปรับกลไกและบทบาทภาครัฐให้เท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง สถาบันเศรษฐกิจที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนต้องเป็นสถาบันที่มีชีวิต ปรับตัวตามบริบทและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปฏิรูปหน่วยงานนโยบาย ได้แก่ สภาพัฒน์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปฏิรูปหน่วยงานการคลังและงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จัดสรรงบประมาณสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และปฏิรูปนโยบายการคลังและภาษี เพื่อรองรับภาระทางการคลังในอนาคต อาทิ ดูแลผู้สูงอายุ โดยการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ รวมทั้งปฏิรูปหน่วยบริหารสินทรัพย์ของภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ


“และเพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาล เสนอให้มีองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ (Semiautonomous Revenue Agency : SARA) เพื่อปรับปรุงระบบภาษีในอัตราก้าวหน้า เพื่อให้กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดมีส่วนรับภาษีเพิ่มขึ้น และขยายฐานการจัดเก็บภาษีไปสู่ทรัพย์สินรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มศักยภาพด้านการคลัง เพิ่มสัดส่วนรายได้ จากภาษีต่อ GDP ให้สูงขึ้น”