ตลาดเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จับตาผลการประชุม FED

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (01/02) ที่ระดับ 32.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (31/1) ที่ระดับ 32.99/33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนตัวของดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงหลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่อ่อนแอ โดยในคืนที่ผ่านมามีการประกาศตัวเลขดัชนีราคาบ้านในเดือนพฤศจิกายนจากเอสแอนด์ดี/เคส-ชิลเลอร์ เพิ่มขึ้น 6.8% ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงจาก 8.6% ในเดือนตุลาคม

รวมถึงดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมกราคมจาก Conference Board ลดลงสู่ระดับ 107.1 ในเดือนมกราคมจากที่อยู่ที่ระดับ 109.1 ในเดือนธันวาคม ทั้ง 2 ปัจจัยที่อ่อนแอนี้ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ทั้งนี้ตลาดยังคงจับตาดูผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ที่จะประชุมกันในช่วงคืนวันพฤหัสบดี ซึ่งนักลงทุนได้ให้น้ำหนักว่า FED จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% เนื่องจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในปีที่ผ่านมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ จากการที่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอตัวลง

รวมถึงตลาดแรงงานยังคงตึงตัว ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ FED ให้ความสนใจในการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัว 2.9% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคมที่ 2.7% ก่อนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2567 อยู่ที่ 3.1% ซึ่งการเติบโตที่ทาง IMF คาดการณ์เป็นการเติบโตที่ชะลอตัวจากปี 2565 ที่อยู่ที่ 3.4% อย่างไรก็ตามทาง IMF บรรเทาความกังวลเกี่ยวกับการเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยลง แต่ยังคงให้ความกังวลกับปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้แถลงรายงานทางเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2565 และไตรมาสที่ 4 ปี 2565 โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักมมาจากการขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวจากการผ่อนคลายมาตรการโควิดของจีน ซึ่งส่งผลทำให้ภาคการบริโภคของไทยปรับตัวดีขึ้น ทาง IMF ได้มีการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนจากเดิมอยู่ที่ 4.4% เป็น 5.2% ในปี 2566

ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ทางด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทางด้านดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามการเกินดุลการค้า ส่วนทางด้านดุลบริการ รายได้และเงินโอนขาดดุลลดลง ในเดือนธันวาคมการส่งออกหดตัว 12.9% ส่วนการนำเข้าหดตัว 10.5% ส่วนทางด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาพลังงานที่ลดลง อีกทั้งทางด้าน IMF ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปี 2566 และ 3.6% ในปี 2567 โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.81-32.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (01/02) ที่ระดับ 1.0851/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (31/1) ที่ระดับ 1.0817/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยทางสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ขยายตัว 0.1% หลังจากมีการขยายตัว 0.3% ในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ในวันพฤหัสบดีจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหภาพยุโรป

โดยนักลงทุนให้น้ำหนักไปที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0850-1.0888 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0880/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (01/02) ที่ระดับ 130.02/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (31/1) ที่ระดับ 130.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 19.80-130.42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 129.81/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมกราคมจาก ADP (1/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมกราคมจากเอสแอนด์พี โกลบอล (1/2) และตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนธันวาคม (1/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -96/-9.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.2/-4.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ