เฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด กดดันดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า

เฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด
ภาพ : pixabay

เฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด กดดันดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตามที่นักลงทุนคาดการณ์ก่อนหน้า ขณะที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดเผยเงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงและภาวะเงินเฟ้อต่ำเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/2) ที่ระดับ 32.68/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/2) ที่ระดับ 32.835/855 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ

โดยถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. ซึ่งเป็นการประชุมคณะกรรมการ FOMC ครั้งแรกของปี ตามที่นักลงทุนคาดการณ์ โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2565

ทางด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงและภาวะเงินเฟ้อต่ำเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วในขณะนี้ ซึ่งนักลงทุนมองว่านายพาวเวลล์ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ หลังจากการแถลงข่าวของนายพาวเวลล์ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (terminal rate) ของเฟดจะอยู่ที่ 4.892% ภายในเดือน มิ.ย. ซึ่งลดลงจากระดับ 4.92% ก่อนการแถลงข่าวของนายพาวเวลล์

นอกจากจากนี้ก่อนการประกาศมติการประชุมเฟด มีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 46.9 ในเดือน ม.ค. จากระดับ 46.2 ในเดือน ธ.ค. และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 46.8

นอกจากนี้สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 572,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 11.0 ล้านตำแหน่งในเดือน ธ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลงสู่ระดับ 10.25 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 10.4 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ย.

โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน จะเป็นปัจจัยหนุนการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ เนื่องจากพนักงานจะมีอำนาจต่อรองในการขอขึ้นค่าแรงต่อนายจ้าง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ขณะที่นักลงทุนรอดูการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร รวมถึงอัตราการว่างงานของสหรัฐที่จะมีประกาศในคืนวันศุกร์นี้ (3/2) โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้นเพียง 187,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือน ธ.ค. ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.68-32.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.805/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/2) ที่ระดับ 1.1010/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/2) ที่ระดับ 1.0884/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก อีกทั้งค่าเงินยูโรยังได้รับแรงหนุนจากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ในการประชุมคืนนี้ (2/2) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0992-1.1025 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0991/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/2) ที่ระดับ 128.63/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/2) ที่ระดับ 129.92/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนหลังจากที่เฟดส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รองผู้ว่าการ BoJ ค้านการทำให้เป้าหมายเงินเฟ้อ 2% เป็นเป้าหมายระยะยาว โดยระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวจะบั่นทอนผลจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ ซึ่งเขาออกมาแสดงความเห็นนี้หลังจากที่คณะนักวิชาการและผู้บริหารในภาคธุรกิจเสนอความเห็นเพื่อทำให้เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายระยะยาว แทนที่จะเป็นเป้าหมายที่บรรลุในทันที เพื่อให้ BoJ สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างยืดหยุ่นได้มากขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 128.40-129.07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 129.04/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ผลการประชุมการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) (2/2) สำหรับทางด้านสหรัฐ ตลาดรอติดตามจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (2/2), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ธ.ค. (2/2) และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Poyrolls) (2/3)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.6/-9.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.25/-5.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ