เมืองไทยฯ สนใจปล่อยกู้ syndicated loan ชงคปภ.ปลดล็อก LTV 

เมืองไทยประกันชีวิต

เมืองไทยประกันชีวิต สนใจปล่อยกู้ syndicated loan โปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐาน-โรงไฟฟ้า ชง คปภ. ผ่อนเกณฑ์ ปลดล็อกข้อจำกัด LTV ปั้นผลตอบแทนลงทุนปี 2566 ที่ 3-4% หาจังหวะปรับพอร์ตตราสารหนี้-เสริมลงทุนหุ้น

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 นายธนัญชัย สัจจะปรเมษฐ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการเงิน (CFO) บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจจะปล่อยกู้ร่วม (syndicated loan) กับธนาคารในโครงการใหญ่ ๆ ที่น่าสนใจ เช่น โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หรือโรงไฟฟ้า เป็นต้น

เพียงแต่เงื่อนไขบางอย่างทำให้ลงทุนได้ยาก เช่น เรื่องอัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน (LTV) ที่ประกันลงทุนได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าทั้งหมดของแต่ละโครงการ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย และห้ามบริษัทประกันเป็น lead arranger

“เรื่องนี้พยายามเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อยู่ เพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าไปลงทุนได้จริงมากขึ้น

โดยปี 2566 บริษัทคาดหวังจะบริหารผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ให้อยู่ที่ระดับ 3-4% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมาได้ ภายใต้สินทรัพย์รวมมากกว่า 6 แสนล้านบาท โดยกว่า 95% เป็นสินทรัพย์ลงทุน ซึ่งตามแผนยังคงสัดส่วนพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้อยู่ที่ 80%

โดยปีนี้เนื่องจากบอนด์ยีลด์สหรัฐรุ่นอายุ 10 ปี เริ่มปรับตัวลง ทำให้จะต้องปรับการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา โดยพิจารณาอัตราผลตอบแทนที่น่าพอใจและแมตชิ่งกับหนี้ได้ลงตัว

ขณะเดียวกันพยายามเสริมผลตอบแทนโดยไปลงทุนในตลาดหุ้นและกองรีท เน้นกลุ่มบิ๊กแคปเป็นส่วนใหญ่ จังหวะที่เข้าแล้วแต่สภาวะตลาด ถ้าจังหวะดีก็ซื้อเพิ่ม และหากราคาขึ้นมาแรงก็จะเทขายทำกำไรบ้าง ปัจจุบันพอร์ตนี้มีสัดส่วน 13-14% นอกจากนี้ในช่วงหลัง ๆ เริ่มกระจายความเสี่ยงไปลงทุนหุ้นในต่างประเทศมากขึ้น โดยจ้าง global asset manager เข้ามาบริหารพอร์ตประมาณ 1 ใน 3 ของพอร์ตลงทุนหุ้น

ส่วนพอร์ตที่เหลือมาจากปล่อยสินเชื่อแยกเป็นสินเชื่อโดยมีกรมธรรม์ประกัน (policy loan) ให้กับลูกค้า ประมาณ 4-5% และสินเชื่อธุรกิจ (business loan) ให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯรายกลางและเล็กอีก 1-2% รวมถึงมีรายได้ค่าเช่าจากตึกออฟฟิศให้เช่า อย่างตึกเมืองไทยภัทรและตึก 66 tower