ก.ล.ต. ลงโทษทางแพ่งกับ POLAR และผู้บริหาร 2 ราย พร้อมปรับเงิน 6 ล้าน

ก.ล.ต. ลงโทษทางแพ่งกับ POLAR และผู้บริหาร 2 ราย พร้อมปรับเงิน 6 ล้าน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าได้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับ บมจ.โพลาริส แคปปิตัล (POLAR) และผู้บริหาร 2 ราย เหตุปกปิดข้อความที่ควรแจ้งในสาระสำคัญ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่บริษัทหยุดประกอบกิจการ

โดยขอศาลแพ่งให้กำหนดค่าปรับทางแพ่งรายละ 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6 ล้านบาท พร้อมค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามผู้บริหารทั้ง 2 ราย เป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียน เป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้ก.ล.ต.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ถือหุ้น POLAR และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า POLAR โดยนายญาณกร ในฐานะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายพูนศักดิ์ ในฐานะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินของ POLAR ไม่ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. กรณี POLAR ถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลายเมื่อวันที่8 พฤษภาคม 2560 และต่อมาถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนภายในระยะเวลาที่สมควรภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

อย่างไรก็ดี POLAR มิได้ดำเนินการจนกระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบและได้แจ้งให้บริษัทดำเนินการ POLAR จึงได้รายงานข้อมูลในวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ซึ่งเมื่อพิจารณาพฤติกรรมที่กล่าวข้างต้น ประกอบกับพฤติกรรมการรายงานข้อมูลในกรณีอื่น ๆ อย่างล่าช้า แสดงให้เห็นถึงเจตนาของ POLAR ในการปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญต่อสาธารณชน ได้แก่ กรณีที่ POLAR ไปยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของตนเองเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ซึ่ง POLAR มีหน้าที่ต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันเดียวกัน แต่กลับแจ้งล่าช้าถึง 35 วัน และกรณีที่ POLAR ไปยื่นคำร้องขอถอนการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 และต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำร้องในวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ซึ่ง POLAR มีหน้าที่ต้องแจ้งภายในวันที่ไปยื่นคำร้อง แต่กลับแจ้งล่าช้าถึง 25 วัน

โดยการกระทำของ POLAR ซึ่งมีนายญาณกรและนายพูนศักดิ์ เป็นผู้รับผิดชอบ จึงเป็นการกระทำความผิดฐานปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ ตามมาตรา 281/10 ประกอบมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 จึงเข้าข่ายถูกดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ได้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาบังคับใช้กับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ซึ่ง ก.ล.ต. ได้แจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหาแล้ว แต่บุคคลทั้ง 3 รายดังกล่าว ไม่ยินยอมที่จะปฏิบัติตามมาตรการลงโทษ ก.ล.ต. จึงมีหนังสือส่งเรื่องให้พนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรายละ 2 ล้านบาท รวมเป็น 6 ล้านบาท พร้อมค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการกระทำความผิด จำนวน 102,132 บาท และห้ามเป็นกรรมการบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 2 ราย เป็นเวลารายละ 10 ปี

อนึ่งนอกจากการดำเนินการลงโทษทางแพ่งแล้ว ก.ล.ต. ยังมีข้อสงสัยถึงการมีอยู่จริงของหนี้ระหว่างบริษัท แทนเจอรีน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (บ.แทนเจอรีน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ POLAR ที่เป็นหนี้บริษัท ซิมบา จำกัด (บ.ซิมบา) และเป็นหนี้ที่ ก.ล.ต. สั่งให้ POLAR จัดทำรายงานการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ในการนี้ ก.ล.ต. จึงได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทน POLARดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินของ บ.แทนเจอรีน ไม่ถูกยักย้ายถ่ายเทออกไปโดยไม่ชอบก่อนการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะแล้วเสร็จ รวมทั้ง ก.ล.ต. ได้มีหนังสือกำชับให้กรรมการและผู้บริหารของ บ.แทนเจอรีน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิด ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต หากไม่ดำเนินการแล้วเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของ บ.แทนเจอรีน อาจเข้าข่ายเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา นอกจากนี้ หาก ก.ล.ต. พบว่า การกระทำอื่นของผู้บริหารของ POLAR เข้าข่ายเป็นความผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ อีก ก.ล.ต. จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป