มี.ค.บาทแข็ง 30.80 บาท/$ กสิกรเตือนปีนี้ผันผวนหนัก

กสิกรไทยชี้ มี.ค.เงินบาทแข็งค่าแตะ 30.80 บาท/ดอลล์ แรงกดดันจากเงินไหลเข้าต่อเนื่องทั้งท่องเที่ยวและต่างชาติแห่เก็งกำไรบอนด์ไทย เตือนค่าเงินผันผวนหนัก หลังต้นปีผันผวนสูง 6.55% ฟาก ธปท.ติดกรอบการแทรกแซงค่าบาท หวั่นถูกสหรัฐบีบทางการค้า เผย พ.ค.บาทกลับทิศอ่อนค่า เหตุขนเงินปันผลกลับพร้อมปรับคาดการณ์สิ้นปีที่ 32 บาท/ดอลล์

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค.ถึงต้น เม.ย.นี้มีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 30.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าแข็งค่าสุดรอบเกือบ 5 ปี นับตั้งแต่ปลายปี 2556

สาเหตุหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าเนื่องจากมีเงินไหลเข้าทั้งจากส่วนของภาคท่องเที่ยว ซึ่งช่วงต้นปีถึง เม.ย.นี้ถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของไทยที่จะมีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีนเข้ามาในไทยจำนวนมาก จะยิ่งทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเกินดุล 8% ของจีดีพี (มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) และอีกส่วนมาจากเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทย เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของสหรัฐ ทำให้เกิดแรงเทขายพันธบัตรในสหรัฐและหุ้น เพื่อลดการถือครองเงินดอลลาร์ ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวอาจเข้ามาลงทุนในพันธบัตร (บอนด์) ของไทย ดังนั้นค่าเงินบาทจึงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง พ.ค.ของปีนี้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะกลับมาอ่อนค่าลงในระยะสั้นถึงระยะกลาง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้กับนักลงทุน จะทำให้มีการนำเงินปันผลกลับประเทศของตนเอง ซึ่งหากดูข้อมูลช่วง พ.ค.ปีที่แล้ว พบว่านักลงทุนต่างชาติได้นำเงินปันผล (งวดปีཷ) กลับประเทศราว 6.8-7 หมื่นล้านบาท

“การเข้าไปดูแลค่าเงินบาทก็จำกัดมากขึ้น เพราะปัจจุบัน ธปท.เข้าไปดูแลแทรกแซงค่าเงินบาทสัดส่วนใกล้เคียง 2% ของจีดีพีแล้ว ดังนั้นก็อาจถูกสหรัฐจับตาได้ว่า แทรกแซงทางการค้า หากประเทศไหนเกินดุลการค้ามาก ขณะที่ปัจจุบันไทยเกินดุลการค้าแล้ว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ถือว่าสูงแล้ว แต่ไทยยังไม่ใช่ประเทศที่สูงที่สุดเหมือนจีน เม็กซิโก เยอรมนี ดังนั้นก็อาจถูกสหรัฐออกนโยบายกีดกันทางภาษีหรือการค้าออกมาคุมได้” นายกอบสิทธิ์กล่าว

ส่วนในช่วงเดือน ก.ย.นี้จะมีประเด็นเรื่องธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประกาศยุติซื้อพันธบัตรของรัฐบาลและเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องทั่วโลกตึงตัว และอาจจะเกิดการดึงเงินกลับประเทศต่าง ๆ จะทำให้เกิดความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลกได้ ดังนั้นในช่วงปลายปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าได้ โดยกสิกรไทยคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปีนี้

ดังนั้นทิศทางค่าเงินบาทในปีนี้จึงยังมีความผันผวนค่อนข้างมาก และยังคงผันผวนต่อเนื่อง ขณะที่เมื่อช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีความผันผวนถึง 6.55%

“แค่ช่วงต้นปีนี้ กสิกรไทยได้ปรับคาดการณ์ระดับค่าเงินบาทใหม่ 2 รอบแล้ว เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จากเดิมที่เราคาดว่าช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้ค่าเงินจะอยู่ที่ 32.20 บาท ก็ปรับมาคาดการณ์แข็งค่าสุดที่ 30.80 บาท/ดอลลาร์ และสิ้นปีนี้ เดิมเรามองว่าจะอยู่ที่ 33.00 บาท ก็ปรับมาสู่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ กนง.จะคงไว้ที่ 1.5% ด้านเศรษฐกิจคาดโตที่ 3.9%” นายกอบสิทธิ์กล่าว