บลจ.ไทยพาณิชย์ กางแผนปี’61 ตั้งเป้าดัน AUM แตะ 1.5 ล้านล้านบาท

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2561 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากสิ้นปีที่แล้วทำได้ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งยังคงครองแชมป์สินทรัพย์ภายใต้การจัดการมากที่สุดในอุตสาหกรรมด้วยส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 19.8% โดยมีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM อยู่ที่ 364,376 ล้านบาท เติบโต 12.1% จากสิ้นปี 59 ทำให้บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเป็น 43.3% โดยปีนี้บริษัทมีแผนออกกองทุนใหม่ราว 10-12 กองทุน ทั้งกองทุนประเภทกลุ่ม Income ที่สร้างรายได้ระหว่างทาง รวมถึงรูปแบบการลงทุนต่างประเทศที่ครบวงจร โดยจะเป็นการนำเสนอกองทุนหุ้นต่างประเทศที่บริหารจัดการแบบแอคทีฟ เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป, อินเดีย, ญี่ปุ่น เพื่อเป็นทางเลือกเสริมจากกองทุนปัจจุบันที่บริหารจัดการแบบพาสซีฟ

โดยจะเน้นการรักษาระดับผลตอบแทนจากการลงทุนของลูกค้าอยู่ในเกณฑ์ดียิ่งขึ้นต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าในปี 2562 ทุกสินทรัพย์กองทุนจะต้องอยู่ระดับ 5 ดาว และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้สูงกว่า Set Index ปีละ 6% โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขในการเพิ่มประสิทธิภาพของการคัดเลือกหุ้นและบอนด์ที่ถูกต้อง โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเข้าถึงลูกค้าได้เร็ว และโดยเฉพาะการมีดีลเลอร์ที่มีประสบการณ์ซื้อขายหุ้นจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและช่วยสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้

“เราต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้วยความสม่ำเสมอของ performance ของกองทุนทุกประเภท โดยปัจจุบันกองทุนหุ้นไทยและต่างประเทศที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับการจัดอันดับ 5 ดาว จาก Morning Star ได่แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (SCBDV) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ซีเล็คท์ อิควิตี้ (SCBSE) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นเกาหลี (SCBKEQTG) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap (SCBMSE) รวมทั้งยังประสบความสำเร็จจากกองทุนที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีหรือดิจิทัล เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลดิจิตอล (SCBDIGI) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลโรโบติกส์ (SCBROBO) ที่มีผลการดำเนินงานที่ดี และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Machine Learning ที่ใช้ Machine เข้ามาบริหารกองทุนแทนคนเป็นกองแรกของประเทศและมีกระแสการตอบรับจากนักลงทุนอย่างมาก” นายสมิทธ์กล่าว

นายสมิทธ์กล่าวว่า ส่วนนโยบายด้านการให้บริการจะเน้นการพัฒนา Digital Platform และเทคโนโลยีรองรับการทำธุรกรรมในยุคดิจิทัลเพื่อตอบสนองนักลงทุนมากขึ้น โดยจะมีการให้เปิดบัญชีซื้อขายกองทุนครั้งแรกด้วย SCB EASY Application (online account) และการให้บริการ Investment Advisory ผ่านมือถือ พร้อมกับการให้บริการ SCB Connect (Chatbot) และการเปิดตัว SCBAM Line เพื่อเป็นช่องทางรับข้อมูลข่าวสารการลงทุน สภาวะตลาด ข้อมูลกองทุน และการจัดสรรสัดส่วนการลงทุน ซึ่งจะทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่ายเข้าถึงผู้ลงทุนได้ทุกกลุ่ม

“นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “private fund platform” แก่ลูกค้าผู้สินทรัพย์สูงรายได้ขั้นต่ำ 10 ล้านบาทขึ้นไป มาช่วยสนับสนุนให้ลูกค้ากลุ่มนี้ที่ชอบลงทุนในกองทุนต่างประเทศได้รับราคาในฐานะนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตมากขึ้นเพราะปริมาณการซื้อค่อนข้างสูง”

ด้านนายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนกลยุทธ์การลงทุนบริษัทจะเน้นกองทุนรวมตราสารหนี้หลากหลายประเภทที่มีศักยภาพทั่วโลกทั้งตลาดประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ เพราะจะทำให้มีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย ช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ แม้จะมีความกังวลจากความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มขาขึ้นรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งในปีนี้ แต่ก็เชื่อว่ายังมีกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีได้

“ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ บริษัทฯยังคงให้ความสำคัญทั้งสองส่วน แม้ว่า P/E ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวสูงขึ้นแต่ยังมีพื้นฐานที่ดีอยู่ทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่ยังปรับตัวแข็งค่าและจะเป็นลักษณะนี้อีกสักระยะหนึ่งจนกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนตลาดหุ้นในต่างประเทศมองการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว