ดอลลาร์แข็งค่าหลังรายงานประชุมเฟดหนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุุธ (21/2) ที่ระดับ 31.49/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของวันที่ 31-31 ม.ค. เมื่อวานนี้ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ความแข็งแกร่งของแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะใกล้นี้ ทำให้เฟดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า การเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่กรรมการเฟดได้รับมา ประกอบกับข้อมูลที่บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องนั้น ได้ช่วยสนับสนุนมุมมองที่ว่า อัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวขึ้นในปี 2561 โดยกรรมการเฟดเกือบทุกคนคาดว่า ในระยะกลางนี้อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ และตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส กล่าวว่า เฟดควรเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวมากขึ้น ซึ่งได้รับแรงหนุนจากมาตรการปรับลดอัตราภาษี รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง นายแคปแลนไม่ได้เปิดเผยว่าเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวนกี่ครั้งในปีนี้ ในขณะที่ตลาดการเงินคาดว่าเฟดจะปรับขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี นายแคปแลนเตือนว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอย ทางด้านนายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า เขายังคงคิดว่า เป็นการเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ แต่เขาก็เปิดกว้างต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้ง หากมีความจำเป็น

ในขณะเดียวกัน นายเควิน แฮสเซทท์ นักเศรษฐศาสตร์ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว ระบุในรายงานเศรษฐกิจประจำปีว่า สหรัฐจะสามารถบรรลุอัตราการเติบโต 3% ต่อปีในช่วงทศวรรษนี้ ถ้าหากมีการบังคับใช้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับการผ่อนคลายกฎระเบียบ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้รายงานระบุว่า นโยบายกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของ ปธน.ทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราภาษี และการผ่อนคลายกฎระเบียบ ได้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ และทำให้มีการคาดหวังว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะยังคงดำเนินต่อไป รายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 2.2% จนถึงปี 2571 อย่างไรก็ดี รายงานระบุเสริมว่า ด้วยการดำเนินนโยบายามวาระของ ปธน.ทรัมป์อย่างเต็มที่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็อาจจะแตะ 3% ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.58-31.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.57/31.59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (22/2) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2275/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (21/2) ที่ระดับ 1.2329/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามแรงซื้อดอลลาร์ หลังจากรายงานประชุมเฟดระบุถึงการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อและหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2261-1.2292 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2292/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (22/2) เปิดตลาดที่ระดับ 107.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (21/2) ที่ระดับ 107.53/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัฐบาลญีี่ปุ่นคงระดับการประเมินภาวะเศรษฐกิจสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ โดยระบุว่าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวในระดับปานกลาง รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนกุมภาพันธ์ โดยระบุว่า องค์ประกอบหลักทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงการบริโภคภาคเอกชน ผลิตผลและการลงทุนทางธุรกิจ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุในรายงานว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวขึ้นในระดับปานกลาง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 107.17-107.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 107.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญทีี่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (22/2)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.1/-1.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.25/-0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ