ธปท.เปิดทางรอด “แบงก์” ปูพรมแบงกิ้งเอเย่นต์…ปรับโมเดลสาขา

จากโพสต์แชร์ภาพ “เซเว่นอีเลฟเว่นเปิดแบงก์” บนโลกออนไลน์เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นร้อนว่าเครือ ซี.พี. (เจ้าของเซเว่นฯ) ได้ไลเซ่นส์แบงก์มาตอนไหน ร้อนถึงแบงก์ชาติในฐานะผู้กำกับสถาบันการเงิน ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงทันควัน

ในวันเดียวกัน และเปิดแถลงข่าวเป็นทางการในวันแรกที่เปิดทำการในต้นสัปดาห์นี้ เรื่อง “แบงกิ้งเอเย่นต์” โดย “สมบูรณ์ จิตเป็นธม” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่ามีเหตุเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนในอินเทอร์เน็ต และกระแสสังคม ว่า ธปท.ได้อนุญาตให้ “เซเว่นอีเลฟเว่นเปิดแบงก์” นั้น ขอยืนยันว่า ปัจจุบัน ธปท.ไม่มีนโยบายและไม่มีแนวคิดที่จะให้ใบอนุญาต หรือไลเซนส์เพื่อเปิด “ธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่” ดังนั้นที่เข้าใจกันในกระแสโลกออนไลน์ คือ “ความเข้าใจผิด”

ส่วนที่ถูกต้องคือ ธปท.อยู่ระหว่างการออกประกาศอย่างเป็นทางการ เรื่องการให้ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) สามารถแต่งตั้ง “ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์” หรือ “แบงกิ้งเอเย่นต์” ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ธปท.

และก็ต้องเข้าใจว่า “แบงกิ้งเอเย่นต์” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ ธปท.ได้เปิดให้แบงก์สามารถตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์ได้ตั้งแต่ปี 2553 แล้ว ซึ่งจะอนุญาตให้ทำธุรกรรมได้เพียง “ชำระบิล”

ทว่าประกาศฉบับใหม่ จะเปิดทางให้แบงก์สามารถคัดเลือกแบงกิ้งเอเย่นต์ใหม่ ๆ ได้เอง โดยแบงกิ้งเอเย่นต์สามารถทำธุรกรรมได้หลากหลายมากขึ้น คือ สามารถ “ฝาก-ถอน-โอนงิน-ชำระบิล”

พร้อมกับยกตัวอย่างว่า ร้านค้าที่มีเคาน์เตอร์เซอร์วิสรับชำระบิลที่เห็นกันอยู่แพร่หลายในทุกวันนี้ ก็เรียกว่า “แบงกิ้งเอเย่นต์” ซึ่งทำธุรกรรมได้แค่ “ชำระบิล” เท่านั้น

Advertisment

“ส่วนในอดีต มีธนาคารพาณิชย์ที่ได้มาขออนุญาต ธปท.เรื่อง ให้แบงกิ้งเอเย่นต์สามารถทำธุรกรรม ฝาก ถอน โอน ชำระบิล ได้ ซึ่งจะมีแค่ 4 ราย คือ บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่อยู่ในเครือเซเว่นอีเลฟเว่น ตู้บุญเติม, ตู้เติมสบาย และแอร์เพย์แอปพลิเคชั่น แต่ทั้งหมดนี้ จะเป็นการขอเป็นรายกรณี แต่อนาคตธนาคารพาณิชย์สามารถคัดเลือกแบงกิ้งเอเย่นต์ได้เองโดยที่ไม่ต้องขออนุญาต ธปท. หากประกาศฉบับนี้ออกก่อน 31 มี.ค.นี้ แบงก์ก็สามารถส่งแผนยุทธศาสตร์ด้านสาขาแบงกิ้งเอเย่นต์มาให้ ธปท.รับทราบ” นายสมบูรณ์กล่าว

นอกจากนี้ ประกาศฉบับนี้ยังเปิดทางให้แบงก์สามารถปรับเปลี่ยนช่องทางการให้บริการด้านสาขาตามชอบอีกด้วย เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น อดีต ธปท.กำหนดสาขาแบงก์ทำธุรกรรม “ฝาก ถอน เปิดบัญชี ปิดบัญชี ให้สินเชื่อ”

Advertisment

ดังนั้น ในอนาคตสาขาของแบงก์ไม่จำเป็นต้องให้บริการธุรกรรมทางการเงินทั้งหมด ที่ ธปท.เคยกำหนดไว้ ซึ่งบางธุรกรรมอาจไม่มีก็ได้ และสามารถกำหนดเวลาการให้บริการของธุรกรรม

นั้น ๆ ได้อีกด้วย เหล่านี้ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวแก่แบงก์ ที่จะสามารถใช้ช่องทางบริการอื่น ๆ เช่น ผ่านอินเทอร์เน็ต โมบายแบงกิ้ง มาให้บริการแทนได้

จากนี้คงจะเห็นการ “เขย่า” ของวงการแบงก์อีกระลอก หลังจากประกาศฉบับนี้ออกมาใช้ในราวปลาย ก.พ.นี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเอื้อต่อแบงก์ในการลดต้นทุนการให้บริการทางการเงิน เพื่อความอยู่รอดและกำไรของแบงก์