เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยหลัง กนง.คงดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.99/34.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (4/7) ที่ระดับ 33.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามแรงซื้อในตลาดโลกหลังจากอ่อนค่าไปมากเมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตามเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบหลังจากที่สหรัฐอเมริกาหยุดเนื่องในวันชาติ โดยในวันนี้ตลาดรอดูการเผยแพร่บันทึกรายงานประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในคืนนี้เพื่อหาสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐต่อไป ส่วนความเคลื่อนไหวภายในประเทศนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการจัดประชุมครั้งที่ 4/2560 ในบ่ายวันนี้และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป โดยนายจตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวค่อยเป็นค่อยไป และไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงและอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วง จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี มองไปข้างหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ในขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศอาจยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร คณะกรรมการจึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ นออกจากนี้ที่ประชุมมองว่าตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนจากหลายปัจจัย แม้ว่าล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย1 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปีนี้ พร้อม ๆ กับการเริ่มกระบวนการปรับลดงบดุลลงก่อนสิ้นปี ในขณะเดียวกันธนาคารกลางอื่น ๆ หลายประเทศได้มีการเริ่มส่งสัญญาณที่อาจจะลดการผ่อนคลายทางการเงินหากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้ค่าอัตราแลกเปลี่ยนยังคงผันผวน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.98-34.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 34.02-34.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 34.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (5/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1362/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (4/7) ที่ระดับ 1.1350/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากปรับตัวที่ดีขึ้นของตัวเลขเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปและการขยายตัวของตลาดแรงงาน โดยตังเลข PMI เยอรมันปรับตัว อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายวันนี้เงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากสำนักงานปกป้องรัฐธรรมนูญของรัฐบาลกลางเยอรมนี(BfV) เปิดเผยว่า เยอรมนีกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง และโอกาสที่จะเกิดการโจมตีนั้นยังคงอยู่ในระดับสูง รายงานระบุว่า มีบุคคลราว 24,000 คน ในเยอรมนีที่อาจข้องเกี่ยวกับลัทธิที่ยึดมั่นในหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัด ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งที่รู้จักกันในนาม “ซาลาฟิสต์” ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นแตะ 10,100 คนในปีที่แล้ว จาก 8,350 คน ในปีก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้ราว 680 คนได้ถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลอันตราย ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1315-1.1365 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1321/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (5/7) เปิดตลาดที่ระดับ 112.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจากราคาปิดตลาดในวันอังคาร (5/7) ที่ระดับ 113.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่นักลงทุนเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันนี้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าหลังจากที่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (EU) จะเข้าสู่การเจรจาช่วงสุดท้ายเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีในวันนี้ ซึ่งการเจรจานี้ต่อรองกันมานานถึง 4 ปี โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำทางภาษียานยนต์ของญี่ปุ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์ชีสและไวน์ของยุโรป ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่้ขัดขวางความคืบหน้าของการเจรจาดังกล่าว นายฟุมิโอ คิชิตะ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น และนางเซซิเลีย มัลม์สตรอม กรรมาธิการการค้าของ EU จะประชุมร่วมกัน ณ กรุงบรัสเซลส์ ในวันนี้ เพื่อสรุปรายละเอียดก่อนที่ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศจะประกาศข้อตกลงดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ ก่อนการประชุมสุดยอด G20 จะเปิดฉาก ณ เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.85-113.60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.63-65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของอังกฤษ (5/7) ยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานสหรัฐ (5/7) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมิถุนายนของสหรัฐ (7/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศ อยู่ที่ -0.40/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.75/-0.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ