ดอลลาร์พุ่ง หลังตลาดเชื่อมั่นเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/2) ที่ 31.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/2) ที่ 31.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงหลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวร้อยละ 4 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ซึ่งแม้จะเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.6 ทางสภาพัฒน์ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาครัฐกลับลดลง และในวันพุธ (21/2) กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมกราคม 2561 ว่าการส่งออกมีมูลค่า 20,101.40 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.6% ขยายตัวดีที่สุดในรอบ 62 เดือน ในส่วนด้านนำเข้า มีมูลค่า 20,220.60 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 24.3% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 119.20 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ในวันพฤหัสดบี (22/6) ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงแตะระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ระดับ 31.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของวันที่ 30-31 โดยกรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ความแข็งแกร่งของแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะใกล้นี้ ทำให้เฟดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า การเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม พร้อมทั้งในรายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่กรรมการเฟดได้รับมา ประกอบกับข้อมูลที่บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องนั้น ได้ช่วยสนับสนุนมุมมองที่ว่า อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2561 โดยกรรมการเฟดเกือบทุกคนคาดการณ์ว่า ในระยะกลางนี้ อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ และตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส กล่าวว่า เฟดควรเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวมากขึ้น ซึ่งได้รับแรงหนุนจากมาตรการปรับลดอัตราภาษี รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง นายแคปแลนไม่ได้เปิดเผยว่าเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวนกี่ครั้งในปีนี้ ในขณะที่ตลาดการเงินคาดว่าเฟดจะปรับขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี นายแคปแลนเตือนว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอย ทางด้านนายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลิเดลเฟีย กล่าวว่า เขายังคงคิดว่า เป็นการเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ แต่เขาก็เปิดกว้างต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้ง หากมีความจำเป็น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25-31.62 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 31.45/47 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (19/2) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2475/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/2) ที่ระดับ 1.2524/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรถูกกดดันจากการขายทำกำไร ประกอบกับค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากประเด็นทางการเมือง โดยในวันอังคาร (20/2) สมาชิกพรรคโซเชียล เดโมแครต (SPD) ของเยอรมนีเริ่มต้นลงคะแนนเสียงเพื่อโหวตในประเด็นที่ว่า พรรค SPD ที่มี่แนวคิดกลาง-ซ้าย ควรจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมของนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีหรือไม่ โดยจะมีการประกาศผลโหวตดังกล่าวในวันที่ 4 มีนาคมนี้ ในวันเดียวกันนี้เอง ประเทศอิตาลีจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นที่คาดกันว่าจะไม่มีพรรคใดได้ครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในรัฐสภาอิตาลี นอกจากนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต ได้เปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซนประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลงสู่ระดับ 57.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 58.8 ในเดือนมกราคม โดยการลดลงของดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และสำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นประจำเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 59.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 61.1 ในเดือนมกราคม ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นประจำเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 56.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 58.0 ในเดือนมกราคม โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.2258-1.2435 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 1.2306/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ในวันจันทร์ (19/2) ค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 106.23/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/2) ที่ระดับ 205.99/106.01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่า ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 9.434 แสนล้านเยน หรือประมาณ 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ม.ค. ส่วนยอดส่งออกในเดือน ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 7.9% รวมถึงมีการเปิดเผยจากนักวิเคราะห์ว่าภาคเอกชนญี่ปุ่นรายเดือนระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นร้อยละ 52 ไม่มีแผนจะปรับขึ้นค่าจ้างพื้นฐานในการเจรจาค่าแรงรายปีในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสวนทางกับข้อเรียกร้องของนากรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นและกลุ่มธุรกิจเคดันเร็นที่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงร้อยละ 3 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้แนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับต่ำน่าจะชะลอตัวการฟื้นตัวออกไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนด้านประเด็นทางการเมืองก็มีทางด้าน นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายพลมาร์ค มิลลีย์ เสนาธิการทหารบกสหรัฐออกมายืนยันว่า ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้ จะร่วมมือกันในการจัดการกับเกาหลีเหนือ โดยกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น เผยว่า นายกรัฐมนตรีอาเบะและนายพลมาร์ค มัลลีย์ ได้เห็นพ้องกันถึงความสำคัญในการยกระดับมาตรการกดดันเกาหลีเหนือให้ถึงขีดสุด เพื่อนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ ทำให้นักลงทุนต่างเกิดความกังวลว่าผลที่ตามมาจะส่งผลกระทบด้านลบต่อประเทศญี่ปุ่นไม่มากก็น้อย ในช่วงท้ายสัปดาห์

ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นโดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการประเมินภาวะเศรษฐกิจสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ โดยระบุว่าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวในระดับปานกลาง เนื่องจากองค์ประกอบหลักทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงการบริโภคภาคเอกชน ผลิตผลและการลงทุนทางธุรกิจ และวันศุกร์ (23/2) กระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่นได้เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานประจำเดือนมกราคม ปรับตัวขึ้น 0.9% สาเหตุจากต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.08-107.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 105.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ