เอเซียพลัสสแกน 18 หุ้นติดโผแตกพาร์ชี้ช่องเล่นเก็งกำไร

เอเซียพลัสสแกน 18 หุ้นใหญ่เข้าทางแตกพาร์ ล้อตาม ปตท. ประกาศจะแตกพาร์เหลือ 1 บาท จาก 10 บาท ส่งผลจิตวิทยาดันราคาพุ่งทำสถิติสูงสุด พร้อมระบุข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบข่าวแตกพาร์หนุนหุ้นเด้งดี ชี้กลยุทธ์ “ซื้อ” ในวันแจ้งข่าว ส่วน “ขาย” ต้องล่วงหน้า 1 วันก่อนวันแตกพาร์ รับผลตอบแทนสูงเฉลี่ย 14%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่อย่าง บมจ.ปตท. (PTT) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ได้มีมติอนุมัติการแตกพาร์ของบริษัท จาก 10 บาท เป็น 1 บาท ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลให้ราคาหุ้น PTT ดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำสถิติสูงสุดใหม่ (all time high) โดยใช้เวลาเพียง 1 วันหลังจากที่บริษัทแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และล่าสุด (21 ก.พ. 2561) ราคาหุ้น PTT ปิดที่ระดับ 522 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 32 บาท หรือ 6.53% จากวันก่อนหน้าที่อยู่ที่ 490 บาท

ขณะที่ได้สำรวจหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ในกลุ่ม SET 100 พบว่ายังมีหุ้นอีกหลายบริษัทที่มีลักษณะคล้ายกับหุ้น PTT ซึ่งราคาหุ้นอยู่ในระดับสูง และราคาพาร์ยังไม่ต่ำกว่าที่เกณฑ์ ตลท.กำหนด ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะสามารถดำเนินการแตกพาร์ได้ค่อนข้างสูง

นายพบชัย ภัทราวิชญ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการสแกนหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยใช้เกณฑ์เลือกหุ้นที่ราคาสูงกว่า 100 บาทต่อหุ้น และราคาพาร์สูงกว่า 1 บาทขึ้นไป รวมถึงสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (ฟรีโฟลต) ต่ำกว่า 50% ซึ่งพบว่ามีหุ้นที่เข้าข่ายสามารถแตกพาร์ได้มีจำนวน 18 บริษัท

“สาเหตุที่หุ้นขอทำการแตกพาร์ เพราะส่วนใหญ่ (ก่อนแตกพาร์) มีปัญหาราคาหุ้นอยู่ในระดับสูงมากแล้ว ทำให้นักลงทุนที่จะเข้าซื้อแต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้

นักลงทุนรายย่อยเอื้อมไม่ถึงบรรดาหุ้นใหญ่เหล่านี้ ผลที่ตามมา คือ สัดส่วนการถือหุ้นของรายย่อยต่ำ ขณะที่เมื่อมีการแตกพาร์ราคาหุ้นที่เคยสูงเป็นระดับหลายร้อยบาทต่อหุ้น ก็จะลดลงมาอยู่หลักหลายสิบบาทต่อหุ้น นักลงทุนรายย่อยจะสามารถลงทุนได้สะดวกขึ้น และสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นก็มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การแตกพาร์ของแต่ละบริษัท ก็ควรดูถึงความเหมาะสมของจำนวนหุ้นด้วย เพราะจำนวนหุ้นที่เยอะเกินไป อาจทำให้ราคาหุ้นไม่ขยับไปไหนได้” นายพบชัยกล่าว

นายพบชัยยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณของสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าหุ้นในกลุ่มดัชนี SET100 ที่มีการแตกพาร์นับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน (21 ก.พ. 2561) ราคาหุ้นมักตอบสนองเชิงบวกนับตั้งแต่วันที่ประกาศข่าวจะแตกพาร์จนถึงวันแตกพาร์ โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14.09% และมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 75% แต่หลังแตกพาร์แล้ว พบว่าราคาหุ้นส่วนใหญ่จะเริ่มทรง ๆ ตัวเมื่อเจาะลึกเฉพาะหุ้นบลูชิพที่มีการแตกพาร์ในอดีต (ตั้งแต่ประกาศแตกพาร์จนถึงวันที่มีผลแตกพาร์) พบว่าให้ผลตอบแทนเป็นบวกทุกบริษัท เช่น บมจ.บ้านปู (BANPU), บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 29%, 17%, 11% และ 3% ตามลำดับ

“แม้การประกาศแตกพาร์ไม่ได้มีผลทำให้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยน แต่ทุกครั้งที่บริษัทไหนประกาศแตกพาร์ ราคาหุ้นมักวิ่งขึ้น เป็นเพราะผลบวกด้านจิตวิทยา ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนหุ้นที่จะแตกพาร์คือ การเลือกซื้อหุ้นเมื่อบริษัทประกาศแตกพาร์และขายล่วงหน้า 1 วันก่อนวันมีผลแตกพาร์” นายพบชัยกล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด นายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัท มีมติให้เปลี่ยนแปลงราคาพาร์เหลือหุ้นละ 0.50 บาท จากเดิมหุ้นละ 1 บาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องหมุนเวียนในการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ หลังมีนักลงทุนสถาบัน, กองทุน และนักลงทุนทั่วไป สนใจเข้ามาลงทุนในหุ้น SGP เป็นจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัด ในเรื่องของสภาพคล่อง ทำให้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงพาร์ใหม่