ค่าเงินบาทแข็งค่า จับตาดูถ้อยแถลงเฟดคืนนี้

ค่าบาท

ค่าเงินบาทแข็งค่า จับตาดูถ้อยแถลงเฟดคืนนี้ และข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐ ที่จะประกาศในวันศุกร์ ซึ่งจะส่งผลต่อการประเมินทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยเฟดต่อไป

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/3) ที่ระดับ 34.58/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/3) ที่ระดับ 34.94/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐประจำเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 55.1 ปรับตัวลงจากระดับ 55.2 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับ 50.0 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐยังคงขยายตัวอยู่ โดยปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี

อีกตัวเลขสำคัญที่มีการเปิดเผย ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐประจำเดือนมกราคมปรับตัวลง 1.6% ขณะที่ตลาดมีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 1.8% หลังจากที่ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้น 1.7% ในเดือนธันวาคม 2565 สาเหตุมาจากการทำสัญญาซื้อเครื่องบินโดยสารโบอิ้งที่ลดลง

ทั้งนี้โดยปกติจะมีการทำสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ช่วงสิ้นปีของปีก่อนหน้า ดังนั้น การทำสัญญาในช่วงต้นปี 2566 จึงลดลง เนื่องจากมีการทำสัญญาตั้งแต่ปลายปี 2565 นอกจากนี้ตลาดกำลังจับตาดูถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะออกในคืนนี้และข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐที่จะมีการประกาศในวันศุกร์ (10//3) ซึ่งจะส่งผลต่อการประเมินทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดต่อไป

สำหรับปัจจัยในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 108.05 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.79% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามยังคงปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน

สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาอาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อของไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภัยแล้งทั้งในประเทศและต่างประเทศที่อาจจะส่งผลต่อราคาพลังงานและอาหาร ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.45-34.62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/3) ที่ระดับ 1.0681/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/3) ที่ระดับ 1.0605/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ สำหรับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนวันศุกร์ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในยูโรโซนประจำเดือนมกราคม โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวลดลง 2.8% เมื่อเทียบรายเดือนและชะลอตัวลงจากระดับ 24.5% ในเดือนธันวาคม โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการชะลอตัวของราคาพลังงาน

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบรายปี พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.0% สำหรับดัชนี PPI พื้นฐานไม่นับรวมหมวดพลังงานปรับตัวขึ้น 1.1% เมื่อเทียบรายเดือนและเพิ่มขึ้น 11.1% เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0662-1.0694 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0661/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/3) ที่ระดับ 136.10/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/3) ที่ระดับ 136.52/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ

โดยตลาดกำลังจับตาดูการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 มีนาคม 2565 ซึ่งถือเป็นการประชุมรอบครั้งสุดท้ายก่อนที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการคนปัจจุบันจะหมดวาระในเดือนเมษายนนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 136.17-136.56 เยน/ดอลลาร์สหรับ และปิดตลาดที่ระดับ 135.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจากสถาบัน ADP (8/3), ตัวเลขเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือน ม.ค. (8/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (10/3) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน ก.พ. (10/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.5/-11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.3/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ