
เลขาธิการ สศช. ประเมินเลือกตั้งใหม่กระทบการจัดทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้าอย่างน้อย 1 เดือนครึ่ง ชี้หากตั้งรัฐบาลได้ช้าอาจลากยาว 3 เดือน พร้อมแสดงความเป็นห่วงนโยบายหาเสียง “พักหนี้” สร้างปัญหามากขึ้น แนะปรับโครงสร้างหนี้รายบุคคลดีกว่า วอนพรรคการเมืองอย่าสร้างบรรยากาศความขัดแย้ง
วันที่ 9 มีนาคม 2566 นายดนุชา พิชญนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานสัมมนา The NEXT Thailand’s Future : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน จัดโดยธนาคารกรุงไทย ว่าช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเดินมาค่อนข้างไกล มีการพัฒนาไปค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน ทั้งรถไฟ ที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวค่อนข้างมาก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลด้วย
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชัดเจนและเร็วกว่าที่คิดไว้ โดยไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจประเทศหลัก ทั้งสหรัฐ สหราชอาณาจักร และยูโรโซน เริ่มเห็นการชะลอตัว สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก และเงินเฟ้อของประเทศหลัก ๆ ก็ยังกดไม่ลง” นายดนุชากล่าว
ทั้งนี้ ในด้านอัตราเงินเฟ้อของไทยนั้น คาดว่าจะเห็นการลดลงอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง และปีนี้คงอยู่ในกรอบไม่เกิน 3% ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีการใช้มาตรการทางด้านการคลังเข้าไปช่วยดูแลต้นทุนค่อนข้างมาก
นายดนุชากล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจประเทศหลัก ๆ ยังมีเงินเฟ้อสูง ทำให้ยังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อกดเงินเฟ้อ ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ ประกอบกับประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอเร็วกว่าที่คาดไว้ และทำให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
“เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด ที่มีขนาดเล็ก เราอยู่ได้ด้วย 2 ภาคหลักคือการส่งออกกับการท่องเที่ยว ดังนั้น การส่งออกที่ชะลอตัวมากในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จึงทำให้เศรษฐกิจเราโตได้ไม่ถึงเป้าอย่างที่เราอยากจะเห็น โดยไตรมาส 4 โต 1.4% และทั้งปีโตได้ 2.6%” นายดนุชากล่าว
ดังนั้น ในปี 2566 นี้ สศช.มองว่าการส่งออกน่าจะติดลบ อยู่ที่ -1.6% ซึ่งเป็นความท้าทาย แต่ภาคอื่น ๆ ทั้งการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน ยังไปได้ดี จะทำให้เศรษฐกิจไทยภาพรวมโตได้ 2.7-3.7% หรือค่ากลาง 3.2% แต่เนื่องจากปีนี้มีการเลือกตั้ง จะทำให้งบประมาณแผ่นดินล่าช้าออกไป และจะทำให้การอุปโภคภาครัฐบาลปีนี้ติดลบ
“นอกจากนี้ ในช่วงการเลือกตั้งก็อาจจะมีประเด็นในเรื่องการเบิกจ่าย ที่อาจจะไม่ได้เบิกจ่ายได้เร็วอย่างที่คาดไว้นัก และเมื่อการจัดทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้าออกไป ต้องใช้งบประมาณไปพลางก่อน ซึ่งหากได้รัฐบาลชุดใหม่เร็ว ก็อาจจะใช้งบฯ ไปพลางก่อนแค่ 1 เดือนครึ่ง แต่ถ้าได้ช้ากว่านี้ก็อาจจะ 3 เดือน ก็จะเป็นความท้าทายอีกเรื่องที่ส่วนราชการต้องเร่งรับมือ” นายดนุชากล่าว
เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ หลัก ๆ ก็คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ก็คือหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ซึ่งต้องแก้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้รายบุคคล
“นโยบายหาเสียงที่ออกมาช่วงนี้ ที่มีการประกาศเรื่องพักหนี้ เรื่องนี้ไม่ได้นะ เพราะทำความเสียหายมากกว่าที่คิด เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง การแก้หนี้ที่ถูกต้องต้องปรับโครงสร้างหนี้รายบุคคล ต้องใช้เวลา แต่จะไม่ทำให้เกิดโมรัลฮาสาร์ดในระบบ” เลขาธิการ สศช.กล่าว
นอกจากนี้ เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้หลายพรรคการเมืองอยู่ในช่วงหาเสียงกันแล้ว คงต้องขอความร่วมมือว่า พยายามอย่าให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้ง เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเรื่องนี้คงต้องช่วยกัน