ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบ ขณะที่พาวเวลล์ย้ำ เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบ ขณะที่พาวเวลล์เน้นย้ำเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ตลาดจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือ ก.พ. ที่จะเปิดเผยในวันศุกร์นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/3) ที่ระดับ 35.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/3) ที่ระดับ 35.085/105 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อคืนนี้ (8/3) นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสเป็นวันที่ 2 แต่ทั้งนี้ ถ้อยแถลงยังคงคล้ายเดิมที่วันก่อนหน้ามีการแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา อย่างไรก็ดีดันีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน จากการที่นายพาวเวลล์ย้ำว่าเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่เฟดยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

โดยเฟดจะพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับตลาดแรงงานและตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อซึ่งจะประกาศก่อนการประชุมเฟดในวันที่ 21-22 มี.ค. ซึ่งหากข้อมูลบ่งชี้ว่าเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร็วขึ้น เฟดก็พร้อมที่จะเพิ่มความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยนั้น ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) รายงานว่า การจ้างงานของภาคเอกชสหรัฐพุ่งขึ้น 242,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 205,000 ตำแหน่ง จากระดับ 119,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. โดยภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. ขณะที้ภาคการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 52,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ดีตลาดรอจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือ ก.พ. ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ (10/3) ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ รวมทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์หน้า ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงนจะเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. หลังจากพุ่งขึ้นเกินคาดถึง 517,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ โดยวานนี้ (8/3) น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทและสกุลเงินภูมิภาคเคลื่อนไหวผันผวนทั้ง 2 ทิศทาง ตามภาวะตลาดการเงินโลก จากปัจจัยความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินสหรัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังการเปิดประเทศ

ทั้งนี้จากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อสภาคองเกรสในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วและมากกว่าคาด หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังสะท้อนความแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดอาจกลับมาดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น 1.2%

ขณะที่ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลง 1.5% ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของเงินสกุลภูมิภาคที่อ่อนค่าระหว่าง 0.3-1.7% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.02-35.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/3) ที่ระดับ 1.0543/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/3) ที่ระดับ 1.0541/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้มีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ของยุโรปพบว่าไม่ขยายตัวในไตรมาส 4/2565 ซึ่งชะลอตัวมากกว่าไตรมาสก่อนที่ขยายตัว +0.3% รวมถึงชะลอตัวมากกว่าคาดที่ +0.1%

ทั้งนี้เมื่อเทียบรายปีพบว่า GDP ขยายตัว +1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวมากกว่าปีก่อนที่ +2.3% รวมถึงชะลอตัวมากกว่าคาดที่ +1.9% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0538-1.0555 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0559/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/3) ที่ระดับ 137.12/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/3) ที่ระดับ 137.62/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีนักลงทุนรอจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยจะเริ่มประชุมวันนี้เป็นวันแรก (9/3) และจะแถลงผลการประชุมในวันพรุ่งนี้ (10/3) ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นครั้งสุดท้ายของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ในฐานะผู้ว่าการ BOJ โดยนายคุโรดะจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 8 เม.ย.นี้ หลังจากทำหน้าที่ผู้วาการ BOJ เป็นเวลานานถึง 10 ปี

ทั้งนี้ นักลงทุนเฝ้าจับตาการประชุมดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อดู่า BOJ จะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินทั่วโลกอีกหรือไม่ หลังจากที่ขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่ -0.25% ถึง +0.25% ในการประชุมเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดเงินและถูกมองว่า BOJ กำลังส่งสัญญาณยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultraloose monetary policy) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 136.48-137.44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.33/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.พ.

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -12.75/-12 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -12/-9.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ