ดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดจับตาแถลงการณ์ของเจอโรม พาวเวลวันพรุ่งนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/2) ที่ 31.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ 31.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23/2) นายจอห์น วิลเลี่ยม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ได้แสดงความคิดเห็นว่า เฟดอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 3 หรือ 4 ครั้งในปี 2018 นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสสหรัฐในวันพรุ่งนี้ (27/2) ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกของเขาต่อรัฐสภาสหรัฐ โดยนักลงทุนจับตาถ้อยแถลงการณ์ของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของสหรัฐ รวมทั้งทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.20-31.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (26/2) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2288/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 1.2311/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23/2) สำนักงานสถิติแห่งยุโรป เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือน ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% เท่ากับเดือนก่อนหน้าและเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งเยอรมนี ได้เปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตานายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งกำหนดที่จะเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของรัฐสภายุโรปในวันนี้ (26/2) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2278-1.2350 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2342/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (26/2) เปิดตลาดที่ระดับ 106.88/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 106.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23/2) กระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ระดับ 2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.36-107.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.58/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ (26/2) ดุลการค้าของนิวซีแลนด์ (26/2) ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี (27/2) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (27/2) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (27/2) ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน (28/2) ประมาณการ GDP ไตรมาสที่ 4 ของสหรัฐ (28/2) ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ (28/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.3/-2.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.5/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้