บลจ.วรรณ ชี้ปิด SVB ไม่กระทบกองทุน มองตลาดผันผวนระยะสั้น

บลจ.วรรณ
ภาพจากเฟซบุ๊ก One Asset Management

บลจ.วรรณ ประเมินผลกระทบปิดธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ไม่มีผลกระทบต่อกองทุน  ชี้กระทบภาคการเงินจำกัดเป็นปัจจัยเชิงลบหุ้นกลุ่มการเงินระยะสั้น

วันที่ 14 มีนาคม 2566 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนวรรณ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐ ได้ถูกสั่งปิดกิจการ ทาง บลจ.วรรณ ได้ประเมินผลกระทบต่อการลงทุนจากเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่า กองทุนส่วนใหญ่ของ บลจ.วรรณ ไม่ได้รับผลกระทบ

เนื่องจากไม่ได้มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธนาคารทั้ง 2 แห่ง มีเพียงกองทุนเปิด วรรณ โกลบอล ไฟแนนเชียล (ONE-GLOBFIN) ซึ่งกองทุนหลัก BGF World Financials Fund มีการลงทุนหุ้น SVB อยู่ประมาณ 2.2% และ Signature Bank ประมาณ 1.8% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ณ สิ้น เดือน ก.พ. 2566 (ข้อมูลได้รับจากกองทุนรวมหลัก ณ วันที่ 13 มี.ค. 2566)

ในส่วนของกองทุนรวมอื่น ๆ บลจ.วรรณมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทั้งสองบริษัทอย่างไม่มีนัยสำคัญ โดยทั้งหมดเป็นการลงทุนผ่านกองทุนดัชนี ETF สำหรับกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม ได้แก่ กองทุน 1US-OPP มี สัดส่วนประมาณ 0.017%, ONE-PREMIER และ ONE-ULTRA มีสัดส่วนประมาณ 0.001% (มีเพียง Signature Bank) (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค. 2566)

บลจ.วรรณ มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคการเงินโลกค่อนข้างจำกัดเฉพาะในกลุ่มธนาคารที่มีฐาน ลูกค้าในธุรกิจขนาดเล็ก/กลุ่มเทคโนโลยี/Fintech และมีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารสภาพคล่องที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเป็นหลัก

โดยในปัจจุบัน สถานะทางการเงินของภาคธนาคารแข็งแกร่งกว่าในช่วงที่เคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008  การเข้ามาควบคุมสถานการณ์จากภาครัฐอย่างรวดเร็วเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ปัญหาไม่ลุกลามและยืดเยื้อ ผ่านโครงการ “Bank Term Funding Program” โดยผู้ฝากเงินทั้งหมดสามารถถอนเงินตัวเองได้เต็มจำนวนตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2566

ทั้งนี้ บลจ.วรรณ คาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อบรรยากาศ (Sentiment) การลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินในระยะสั้น และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Growth ที่มีความผันผวนสูง และบริษัทยังไม่ได้มีผล กำไรที่ยังต้องพึ่งการสนับสนุนจากทางการอยู่

ซึ่งกลุ่มเหล่านี้อาจจะยังถูกกดดันจากความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป (Higher for longer)