ดอลลาร์อ่อนค่า ยังกังวลผลกระทบจากปัญหา Bank run ในสหรัฐ

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่า ยังคงกังวลผลกระทบจากปัญหา Bank run ในสหรัฐ ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินของสหรัฐ เหตุการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของ Fed ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินของบริษัท Start up สูงขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/3) ที่ระดับ 34.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/3) ที่ระดับ 34.60/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัญหา Bank run ของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินของสหรัฐ เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของ Fed ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยจาก 0.25% มาสู่ระดับ 4.75% ในปีที่ผ่านมานั้น นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินของบริษัท Start up ที่เป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของ SVB สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสภาพคล่องของภาคธุรกิจ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐสูงขึ้น เป็นผลให้ราคาพันธบัตรร่วงต่ำลง จนทำให้ SVB ต้องขาดทุนจากการขายพันธบัตรทีต่ำกว่าหน้าตั๋ว

ทั้งนี้ FED จึงได้จัดการประชุมฉุกเฉิน เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์นี้ทำห้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบธนาคาร โดย FED จะมีการแถลงการณ์ทบทวนเรื่องดังกล่าวในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 โดยทางหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐประกาศว่าลูกค้าที่มีเงินฝากกับ SVB และธนาคารซิกเนเจอร์ จะสามารถเข้าถึงเงินฝากได้อย่างเต็มจำนวน ในวันจันทร์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางเจพีมอร์แกนและนักลงทุนกว่า 85% ให้การคาดการณ์ว่า ในการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคม 2566 นี้ FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% จากทีเคยคาดการณ์ว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.5% สวนทางกับ Goldman sachs ที่คาดการณ์ว่า FED จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.50-4.75% ตามเดิม เพื่อรักษาเสถียรภาพของสถาบันการเงิน โดยในช่วงสัปดาห์นี้เป็นช่วง Blackout period ของ FED โดยเจ้าหน้าที่ของ FED จะไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินได้

ทั้งนี้ตลาดยังคงจับตารอดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในคืนนี้ โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจาก 6.4% ในเดือนมกราคม ซึ่งหากดัชนีราคาผู้บริโภคออกมาชะลอตัวลง ก็จะทำให้นักลงทุนคลายความกังวลด้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ซึ่งอาจส่งผลทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ทางคุณสุวรรณีผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการล้มละลายของ SVB นั้นจะไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินของไทยโดยตรง เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการควบคุมการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยระหว่าวันค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 34.43/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/3) ที่ระดับ 1.0708/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/3) ที่ระดับ 1.0670/1.0672 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยนายปาสคาล ประธานรัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรโซนกล่าวว่า การล้มละลายของ SVB ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพทางการเงินของยูโรโซน เนื่องจากได้มีการกำกับดูแลภาคธนาคารอย่างใกล้ชิด ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง จากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า ทาง ECB จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 16 มีนาคม

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0663-1.0730 ดอลลาร์ สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0700/1.0701 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/3) ที่ระดับ 133.73/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/3) ที่ระดับ 133.57/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากเหตุการณ์ Bank run ทำให้ตลาดหุ้นกลุ่มการเงินในญี่ปุ่นร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับสหรัฐ เนื่องจากมีความกังวลด้านเสถียรภาพทางการเงิน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.03-134.33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.07/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ. (14/3), ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.พ. (15/3), ดัชนียอดค้าปลีกเดือน ก.พ. (15.3), คำขออนุญาตสร้างอาคารเดือน ก.พ. (16/3), รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟียเดือน มี.ค. (16/3), รายงานจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้างเดือน ก.พ. (16/3), คำขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (16/3), รายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. (17/3), รายงานดัชนีความเชื่อมั่นจากมิชิแกนเดือน มี.ค.(17/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.25/-11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.5/-7.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ