ส่องตลาดเมียนมา

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ผู้ประกอบการไทยราว 40 ท่าน ที่เพิ่งกลับจากกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา จากกิจกรรม “Krungsri Business Journey: The Opportunity in Myanmar” ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้พาไปสำรวจโอกาสทางธุรกิจ หาช่องขยายตลาดในเมียนมา และเข้าร่วมหลายกิจกรรม

แต่หนึ่งกิจกรรมที่ผมอยากพูดถึง เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์และเห็นภาพของเมียนมาได้ดีมากคือการสำรวจตลาด

เริ่มที่ตลาดก่อสร้างก่อน เพราะตอนนี้ อุตสาหกรรมก่อสร้างของเมียนมาเติบโตสูงมากจากการขยายตัวของความเป็นเมือง คณะได้ไปเยือนหลายที่ทั้งตลาดซอหวาจีกง แหล่งรวมร้านวัสดุก่อสร้าง ทั้งสี กระเบื้อง เหล็กเส้น สายเคเบิล ฯลฯ ไม่ไกลจากสนามบิน รวมถึงได้ไป Pro One ห้างขายสินค้าเกี่ยวกับบ้านอันดับ 1 ในเมียนมาที่มีหุ้นส่วนเป็นบริษัทสัญชาติไทยรายใหญ่ด้วย

ตลาดก่อสร้างได้ข้อมูลน่าสนใจมาฝากกัน คือคนเมียนมายังไม่นิยมใช้อิฐสำเร็จรูป จะใช้ปูนซีเมนต์ผสมปูนขาวทำออกมาเป็นอิฐ เพราะราคาถูกกว่ามาก ส่วนไม้มีหลายประเภทหลายเกรด เช่น ไม้ปาร์เกต์ ที่นิยมหลัก ๆ เป็นไม้อัดแผ่นบางของเกาหลี เบาและราคาถูก ส่วนอีกเกรดหนึ่งเป็นไม้สักทองของเมียนมา ราคาจะแพงกว่า จะมาเป็นแผ่นใหญ่และตัดตามขนาดที่ลูกค้าต้องการ เช่นเดียวกับกระเบื้องก็มีหลายเกรด หลายราคา ถ้าเป็นกระเบื้องจีนและเวียดนามราคาจะถูก 1 แผ่น ราคาแพงสุดไม่เกิน 400 จ๊าต (ประมาณ 10 บาท) ใช้ปูในห้องน้ำหรือบริเวณที่แขกมาเยี่ยมบ้านมองไม่เห็น ส่วนกระเบื้องแบรนด์ไทยต่อแผ่น ราคาถูกสุดก็ยังแพงกว่ากระเบื้องที่แพงสุดของจีนและเวียดนาม คืออยู่ที่แผ่นละ 500 จ๊าต (ประมาณ 12.50 บาท) จะใช้ปูในห้องรับแขกหรือบริเวณที่ใช้รับรองแขก

สรุปว่า อุปกรณ์ก่อสร้างมีหลากหลาย ซึ่งสินค้าไทยมีโอกาสเจาะตลาดเมียนมามากเพราะถือว่าอยู่ในเกรดดี เป็นที่ชื่นชอบทั้งรูปแบบและคุณภาพ แต่การเลือกซื้อนั้น ผู้รับเหมามีอิทธิพลมากในการเสนอหรือพูดโน้มน้าว

สำหรับตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (Modern Trade) เราเดินทางไปทั้งห้าง Junction City และ Myanmar Plaza ซึ่งจับกลุ่มเป้าหมายเป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง รวมถึง Ga Mong Pwint (กา มง ปุ้ย) และตลาดสก็อต จับกลุ่มชนชั้นกลางและคนทั่วไป เท่าที่สังเกตทำเลของห้างมีความสำคัญ หากห้างอยู่ใกล้จุดต่อรถจะได้เปรียบ เพราะคนสะดวกแวะซื้อของ ทุกห้างจะเห็นสินค้าไทยบนชั้นขายสินค้าเพราะเป็นที่นิยม โดยถือว่ามีคุณภาพดีและราคาสมเหตุสมผล สิ่งที่เมียนมายังขาดจะเป็นพวกผลไม้สด หากผู้ประกอบการไทยสนใจขยายสินค้ามาตลาดเมียนมาควรเข้ามาดูด้วยตนเองว่าสินค้าของเราจะเจาะเข้าตรงไหน เพราะยังเห็นมีช่องว่างอยู่ รวมถึงเข้ามามองหาคู่ค้าและสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้วย เพราะตามกฎหมาย การขายสินค้ายังต้องเป็นบริษัทของคนเมียนมาอยู่ เราต้องเข้าไปแบบการร่วมทุน หรือหาผู้แทนจำหน่าย

การไปสำรวจตลาดด้วยตัวเองเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการมาก ช่วยให้เห็นเทรนด์สินค้า บริการ ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังได้เห็นพฤติกรรมการใช้จ่าย ซื้อสินค้าของคนท้องถิ่นจริง ๆ เพื่อนำมาใช้วางแผนให้สินค้าหรือบริการของเราตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุดครับ