ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบ หลัง CPI ออกมาตามคาดการณ์

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบ หลัง CPI ออกมาตามคาดการณ์ ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 83.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 15 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/3) ที่ระดับ 34.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/3) ที่ระดับ 34.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.0% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี

สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 6.2% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.5% ในเดือน ม.ค.

ในส่วนของดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 5.6% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน ก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.4% ในเดือน ม.ค. ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 83.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และให้น้ำหนัก 16.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 66 อยู่ที่ระดับ 96.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือน ม.ค. 66 ซึ่งถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่ เม.ย. 62 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิต ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การบริโภค และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน และอานิสงส์การเปิดประเทศของจีน

ขณะเดียวกันการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่าง ๆ ตลอดจนการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ต้นทุนประกอบการประเภทราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 34.45-34.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/3) ที่ระดับ 1.0735/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/3) ที่ระดับ 1.0708/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนจับตารอการลงมติเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ขณะที่ธนาคารดอยช์ แบงก์ คาดว่า ECB มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% หลังจากการล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank)

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0716-1.0759 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0718/22

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/3) ที่ระดับ 137.32/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/3) ที่ระดับ 134.13/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดรอติดตามการประกาศตัวเลขยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน ก.พ.ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 134.04-135.11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.53/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีนเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค.-ก.พ. (15/3), ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค.-ก.พ. (15/3), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.พ. (15/3), ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. (15/3), ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing) เดือน มี.ค.จากเฟดนิวยอร์ก (15/3), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน ม.ค. (15/3), ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน มี.ค.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHBC (15/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.5-11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.4/-88 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ