ทุบกำแพง “หนี้คนไทย” แก้ปมด้วยข้อมูลการเงิน

ระยะนี้หลายคนคงจะได้ยินข่าวทั้งจากภาครัฐ ที่หันมาออกมาตรการสนับสนุน ควบคุมการก่อหนี้ ส่วนฝั่งเอกชนก็ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการที่หนี้เสียในระบบขยายตัว คำถามคือ ปัจจุบันภาวะหนี้ของคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง ?

“ผศ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค” ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรก 2560” จากประชาชนที่มีรายได้ทั่วประเทศระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 45.15% “มีรายได้พอ ๆ กับรายจ่าย” โดยประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 26,469.91 บาท/เดือน และมีรายจ่ายเฉลี่ยที่ 21,606.75 บาท/เดือน

นอกจากนี้พบว่า ประชาชนที่มีเงินออมคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 51.65% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด แต่ประชาชนกลุ่มที่มีหนี้สินมีสัดส่วนที่สูงกว่าคิดเป็น 68.10% ซึ่งในจำนวนนี้มีหนี้สินโดยรวมเฉลี่ยประมาณ 565,302.88 บาท/คน โดยส่วนใหญ่ประชากรที่มีหนี้กว่า 59.47% ใช้ซื้อ/ผ่อน/ชำระสินค้า การบริการ สินค้าอุปโภคบริโภค

ด้าน “ณดา จันทร์สม” คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เล่าว่า จากผลสำรวจของนิด้าพบว่า คนไทยส่วนมากมีรายได้พอ ๆ กับรายจ่าย จนลดพลังการออมเงินลง แถมหนี้สินส่วนใหญ่ที่มีก็มาจากการอุปโภคบริโภค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกลไกของเศรษฐกิจให้การบริโภคในประเทศลดลง เพราะกำลังซื้อลดลงนั่นเอง

ส่วน “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เล่าว่า จากข้อมูลของเครดิตบูโร ณ ไตรมาส 1/2560 พบว่า คนไทยมีหนี้สินกว่า 10 ล้านล้านบาท แต่สิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ หนี้สินในกลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 22-37 ปี ซึ่งในระยะหลังสถาบันการเงินเข้าไปให้สินเชื่อเป็นจำนวนมาก ทั้งในลักษณะสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ ฯลฯ ส่งผลให้กลุ่มจำนวนหนึ่งในช่วงอายุ 29 ปี มีหนี้เสียมากที่สุด ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะอาจกระทบการขอสินเชื่อในอนาคต เช่น การขอสินเชื่อบ้าน ฯลฯ ส่วนกลุ่มอายุใกล้เกษียณ หรืออายุ 55 ปีขึ้นไป ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะบางส่วนมีหนี้เสีย ทำให้ความสามารถในการใช้ชีวิตหลังเกษียณอาจไม่ดีนัก

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า หากจะทำให้ระบบนิเวศทางการเงินดีขึ้น ต้องแก้ไขจากการควบคุมความเสี่ยง ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลการเงินที่ชัดเจน ดังนั้นเครดิตบูโรจึงอยู่ระหว่างการพัฒนา และเพิ่มสมาชิกใหม่ที่เป็นสถาบันการเงินให้ครอบคลุมระบบนิเวศการเงินให้มากขึ้น

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานให้สหกรณ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกส่งข้อมูลให้เครดิตบูโร ซึ่งอนาคตจะมีเข้าร่วมประมาณ 6 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์อิสลามอิบนูอัฟฟาน สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น สหกรณ์ของกรมป่าไม้ สหกรณ์ปลัดกลาโหม สหกรณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย และสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนปี 2562 จะมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เริ่มส่งข้อมูลเข้ามาด้วย โดยการมีฐานข้อมูลที่อยู่บนข้อเท็จจริงมากขึ้นจะทำให้สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงได้ดีขึ้นนั่นเอง


คงต้องจับตาต่อไปว่า หลังจากที่มีการรวบรวมข้อมูลหนี้จากแหล่งต่าง ๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น จะช่วยให้สถาบันการเงินนำไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน และจะช่วยทลายกำแพงหนี้ของคนไทยได้จริงหรือไม่ ?