วิกฤตธนาคารเริ่มทำตลาดป่วน

ภาพ : pixabay

วิกฤตธนาคารเริ่มทำตลาดป่วน หลังนักลงทุนกังวลกับวิกฤตของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse Bank) ธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ซ้ำเติมความกังวลจากการที่รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ก่อนหน้านี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 13-17 มีนาคม 2566 ค่าเงินดอลลาร์เปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (13/3) ที่ระดับ 34.46/8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/3) ที่ระดับ 35.03/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยได้รับแรงกดดันจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 311,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 205,000 ตำแหน่งแต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 504,000 ตำแหน่ง ซึ่งถูกปรับลดจากการประกาศครั้งก่อนที่ระดับ 517,000 และอัตราว่างงานสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 3.6% เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะคงอยู่ที่ระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 3.4% ส่งสัญญาณว่าภาคแรงานสหรัฐอาจไม่ตึงตัวตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

นักลงทุนคลายความกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย

โดยปัจจัยดังกล่าวสนับสนุนให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอย่างแข็งกร้าว ในวันอังคาร (14/3) กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.0% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 6.2% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน

ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.5% ในเดือน ม.ค. ในส่วนของดัชนี CPI พื้นฐานไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 5.6% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน

ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน ก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.4% ในเดือน ม.ค. โดยตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่จะมาถึงในสัปดาห์หน้า

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 83.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และให้น้ำหนัก 16.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75% ทั้งนี้ในวันพฤหัสบดี (16/3) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกต่อวิกฤตในภาคธนาคารของสหรัฐที่เริ่มส่อเค้าแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุโรป

เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ในวันจันทร์ (13/3) นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท.เปิดเผยว่า ในเดือน ก.พ. 66 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิจากที่เคยซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุสำคัญมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ค่อนข้างมากจากภาคการส่งออกและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาครัฐที่ลดลง แม้การบริโภคภายในประเทศยังคงฟื้นตัวตามภาคการบริการและท่องเที่ยว

นอกจากนั้นแล้ว นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 66 อยู่ที่ระดับ 96.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือน ม.ค. 66 ซึ่งถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่ เม.ย. 62 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิต ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การบริโภค และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน และอานิสงส์การเปิดประเทศของจีน

ขณะเดียวกันการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่าง ๆ ตลอดจนการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ต้นทุนประกอบการประเภทราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวโดยรวมในทิศทางที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์อยู่ในกรอบระหว่าง 34.14-34.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/3) ที่ระดับ 34.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (13/3) ที่ระดับ 1.0723/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/3) ที่ระดับ 1.0585/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ และได้รับแรงหนุนภายหลังการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนีเดือน ก.พ. ขยายตัวที่ระดับร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบรายปีตามที่ตลาดคาดการณ์ ส่งสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และไม่มีสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจน

จับตาวิกฤตธนาคารเครดิตสวิส

อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงอย่างมากในช่วงกลางสัปดาห์ จากการที่นักลงทุนกังวลกับวิกฤตของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse Bank) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ จากการที่มีการเปิดเผยผลขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลาดทั้งปีอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์

อีกทั้งธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือ SNB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเครดิต สวิส ประกาศว่า SNB ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิต สวิส ได้เนื่องจากจะทำให้ SNB ถือหุ้นมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารเครดิต สวิส ถือเป็นการซ้ำเติมความกังวลจากการที่รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ในเวลาถัดมา ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และ FINMA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ให้คำมั่นว่า จะจัดหาสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือธนาคารเครดิตสวิส หลังจากราคาหุ้นของธนาคารทรุดตัวลงอย่างหนัก

ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.50%

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (16/3) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม แม้ตลาดหุ้นดิ่งลงก่อนหน้านี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในระบบธนาคาร หลังจากการล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นไปตามที่ ECB ได้ระบุไว้ในการประชุมครั้งที่แล้ว และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0514-1.0759 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/3) ที่ระดับ 1.0660/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (13/3) ที่ระดับ 133.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/3) ที่ระดับ 138.78/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและความกังวลของนักลงทุนต่อวิกฤตธนาคารที่เริ่มแพร่กระจาย ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (16/3) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยยอดขาดดุลการค้ามูลค่า 8.977 แสนล้านเยน หรือประมาณ 6.7 พันล้านดอลลาร์ในเดือน ก.พ. โดยได้รับผลกระทบจากการนำเข้าพลังงานที่สูงขึ้น และเงินเยนที่อ่อนค่าลง ข้อมูลเบื้องต้นของกระทรวงระบุว่า ยอดนำเข้าเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น 8.3% สู่ระดับ 8.55 ล้านล้านเยน เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 6.5% สู่ระดับ 7.65 ล้านล้านเยน ส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 8.977 แสนล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าติดต่อกันเดือนที่ 19

ขณะเดียวกันญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐมูลค่า 5.305 แสนล้านเยน โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องจักรที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าจากญี่ปุ่นไปยังสหรัฐพุ่งขึ้น 14.9% สู่ระดับ 1.48 ล้านล้านเยน และนำเข้าเพิ่มขึ้น 6.6% สู่ระดับ 9.256 แสนล้านเยน ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.71-135.11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/3) ที่ระดับ 133.01/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ