ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตลาดจับตาประชุมเฟด

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตลาดจับตาประชุมเฟด ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ชี้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง คาดทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะสั้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/3) ที่ระดับ 34.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/3) ที่ระดับ 34.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นดัชนีวัดวามเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลดลง 0.67% สู่ระดับ 103.72 จุด หลัง Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวลง 0.3% ในเดือนกุมภาพันธ์ จากการลดลงของการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะสั้น

อีกทั้งผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยร่วงลงสู่ระดับ 63.4 ในเดือนมีนาคม และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.0 จากระดับ 67.0 ในเดือนกุมภาพันธ์

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนในปัจจุบันร่วงลงสู่ระดับ 66.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลงสู่ระดับ 61.5 ทั้งนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.8% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าระดับ 4.1% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว

สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% ต่ำกว่าระดับ 2.9% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอดแลนติก ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -23.2 ในเดือนมีนาคม แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -15.6 จากระดับ -24.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกอยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7

ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน รวมทั้งการปรับตัวลงของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งขึ้น 9.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ สู่ระดับ 1.45 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.310 ล้านยูนิต

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) พร้อมคณะ ได้เข้าพบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้าสินค้า และแนวทางการลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

อีกทั้ง Economic Intellingence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็นขยายตัว 3.9% (เดิม 3.4%) โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยว และภาคบริการที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 33.99-34.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/3) ที่ระดับ 1.0687/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/3) ที่ระดับ 1.0642/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ของสหภาพยุโรป ออกมาอยู่ที่ระดับ 8.5% ย่อตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 8.6%

ส่งผลให้ธนาคารโกลด์แมน แซกส์ ปรับลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนพฤษภาคมนี้ สู่ระดับ 0.25% จากเดิมที่คาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% แม้ว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนกุมภาพันธ์ ของเยอรมนี จะออกมาลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ -0.3% จากที่คาดว่าจะย่อตัวเอง 0.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0640-1.0706 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0646/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/3) ที่ระดับ 132.48/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/3) ที่ระดับ 133.16/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยถูกกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลง และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ

อีกทั้งความกังวลด้านสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินและธนาคารต่าง ๆ ในสหรัฐ ได้หนุนให้มีแรงเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และเงินเยน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 130.71-132.64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 130.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลการค้าเดือนมกราคมของยุโรป (20/3), ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนมีนาคม จากสถาบัน ZEW ของเยอรมนี (12/3) และยอดขายบ้านมือสองเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐ (21/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -13/12.25 สตางค/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.90/-9.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ