ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด พร้อมกับส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ย เชื่อมั่นระบบธนาคารสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 20-24 มีนาคม 2566 ค่าเงินดอลลาร์เปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (20/3) ที่ระดับ 34.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/3) ที่ระดับ 34.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด พร้อมกับส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ซึ่งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุม ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 9 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2565

เฟดใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี เฟดส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่แสดงความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารสหรัฐ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอีกเพียง 1 ครั้ง หลังการประชุมครั้งนี้ เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.8% ในปี 2567 และ 1.2% ในปี 2568

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 5.1% ในปีนี้ และชะลอตัวสู่ 4.3% ในปี 2567 และ 3.1% ในปี 2568 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5% นอกจากนี้ เฟดคาดว่าอัตราว่างงานจะแตะระดับ 4.5% ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.6% ทั้งในปี 2567 และ 2568 ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0%

ขณะเดียวกัน เฟดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 0.4% ในปีนี้ ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 0.5% ก่อนที่จะดีดตัวสู่ระรดับ 1.2% และ 1.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) พร้อมคณะได้เข้าพบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้าสินค้า และแนวทางการลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

อีกทั้ง Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็นขยายตัว 3.9% (เดิม 3.4%) โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยว และภาคบริการที่ฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาของธนาคารในสหรัฐและยุโรปอย่างใกล้ชิดและประเมินว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้นต่อระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากธุรกิจของภาคธนาคารและกองทุนประเภทต่าง ๆ อยู่ในระดับต่ำ

ในขณะเดียวกันการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เข้มงวด โดยมีการบังคับใช้เกณฑ์ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่องกับธนาคารทุกแห่ง อ้างอิงจากข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคง มีการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด สินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกไปในภาวะวิกฤตยังอยู่นระดับสูง และมีปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพในระดับต่ำ

คลังคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3-4%

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ 3-4% จากภาคการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ราว 25-30 ล้านคน ในขณะเดียวกันปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังมีความน่าเป็นห่วง ซึ่งจะกดดันการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในระดับฐานราก ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่ยังปรับขึ้น

โดยนักวิเคราะห์คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวาระถัดไปจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวโดยรวมในทิศทางที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์อยู่ในกรอบระหว่าง 33.91-34.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/3) ที่ระดับ 34.13/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (20/3) ที่ระดับ 1.0687/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/3) ที่ระดับ 1.0642/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ของสหภาพยุโรป ออกมาอยู่ที่ระดับ 8.5% ย่อตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 8.6% ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนกุมภาพันธ์ของเยอรมนี จะปรับตัวลดลง 0.3% จากที่คาดว่าจะปรับตัวลดลง 0.5%

นอกจากนี้ตลาดในช่วงต้นสัปดาห์ยังค่อนข้างผันผวน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการ write off ตราสารหนี้ของธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่สามารถแปลงสภาพหนี้เป็นหุ้นสามัญ และนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Additional 1 : AT1) มูลค่า 1.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถูกตัดเป็นศูนย์ และยังมีธนาคารอื่นในยุโรปที่มีตราสารหนี้ประเภทนี้ ทำให้นักลงทุนกลัวว่าจะเป็นปัญหากลายเป็นต่อเนื่องกับสถาบันการเงินต่าง ๆ จากความเสี่ยงในการถือตราสารหนี้นี้

นักลงทุนคลายความกังวลปัญหาธนาคารเครดิต สวิส

อย่างไรก็ดี นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องของธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) ภายหลังการประกาศเข้าซื้อกิจการโดยธนาครยูบีเอส (Union Bank ofmSwitzerland) ขณะที่สถาบัน ZEW เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยุโรปเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 10.0 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 16.0 และเดือนก่อนหน้า 29.7 โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีอยู่ที่ระดับ 13.0 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 17.1 และเดือนก่อนหน้า 28.1 ส่งสัญญาณว่ามุมมองเศรษฐกิจยุโรปและเยอรมนียังคงไม่สู้ดีนัก

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (23/3) ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้นายโยอาคิม นาเจล ประธานธนาคารกลางเยอรมนี กล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สว่า ผู้กำกับนโยบายของยูโรโซนต้อง “ดึงดัน” เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 3.50% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0630-1.0929 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/3) ที่ระดับ 1.0731/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (20/3) ที่ระดับ 132.48/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/3) ที่ระดับ 133.16/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยถูกกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลง และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ อีกทั้งความกังวลด้านสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินและธนาคารต่าง ๆ ในสหรัฐได้หนุนให้มีแรงเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และเงินเยน

เงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่น(core-CPI) ชะลอตัว

ขณะที่ในวันศุกร์ (24/3) กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core-CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด แต่รวมราคาน้ำมันและเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 4.2% ในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี

อย่างไรก็ดี ดัชน CPI พื้นฐานยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ระดับ 2% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 ซึ่งอาจจะกดดันให้ BOJ ตัดสินใจยกเลิการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษ (Ultraloose Monetary Easing Policy) ภายใต้การบริหารของผู้ว่าการ BOJ คนใหม่ซึ่งจะเริ่มทำหน้าที่ในเดือน เม.ย.นี้

กระทรวงระบุว่าดัชนี CPI พื้นฐานชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน เนื่องจากผลกระทบของนโยบายอุดหนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีเป้าหมายลดการใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค โดยหากไม่มีผลกระทบดังกล่าวก็คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานเดือน ก.พ.อาจจะขยายตัวที่ระดับ 4.2% เช่นเดียวกับในเดือน ม.ค. ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 129.92-133.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/3) ที่ระดับ 129.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ