TMB ปรับทัพสู้เกมดิจิทัลแบงกิ้ง ตอบโจทย์ลูกค้าทุกเซ็กเมนต์

ปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทายของ “ธนาคารทหารไทย” หรือ TMB ภายใต้การนำทัพของ “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอป้ายแดง ซึ่งล่าสุดได้แถลงทิศทางของทีเอ็มบีในปีนี้ และโจทย์ยากที่จะยกระดับก้าวไปสู่โลกดิจิทัลแบงกิ้ง ที่จะมากกว่าทีเอ็มบีได้เคยทำไปก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง

“ปิติ” ฉายภาพใหญ่ของทีเอ็มบีว่า เรื่องของ “ดิจิทัลแบงกิ้ง” จะเข้ามามีบทบาทในทุกธุรกิจของธนาคาร ดังนั้นจึงยังมีเรื่องอีกมากที่จะต้องทำ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากขึ้น โดยไม่ใช่แค่การออก “แอปพลิเคชั่น” ขึ้นมาแล้วจะหวังว่าเป็นแบงก์ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในทุกด้านได้หมด

เขาบอกว่าธนาคารจะต้องทำมากกว่านั้น คือสามารถเอาทุกคอนเทนต์มาผนวกกัน เพื่อให้บริการผ่านดิจิทัลได้ครบถ้วนทั้งอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง แอปพลิเคชั่น หรือบริการผ่าน call me now หรือตอบโจทย์ด้านการลงทุนผ่าน “TMB Advisory”

“เหล่านี้จะต้องผสมผสาน เพื่อให้ธนาคารสามารถให้บริการผ่านดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ และทุกด้านต้องพัฒนาและอาจเห็นอะไรใหม่ ๆ ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าต่อเนื่อง”

แต่อย่างไรก็ตาม “ปิติ” เชื่อว่า องค์กรคงจะไม่สามารถเอาดิจิทัลเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วได้ ถ้าหาก (โครงสร้าง) องค์กรยังเป็นแบบเดิม ดังนั้น องค์กรยังจะต้องพยายามทำต่อเนื่อง คือ เรื่องของการปรับโครงสร้างภายใน เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน ลดความซับซ้อนขององค์กร เพื่อทำให้การทำงานภายในสะดวกขึ้น ดังนั้นในปีนี้ ธนาคารจึงยังคงมีการลดระดับชั้นการบังคับบัญชาให้เหลือเพียง 5 ขั้นในปีนี้ จากปัจจุบันที่มี 6 ขั้น หากเทียบกับแบงก์อื่น ๆ ที่อาจมีถึง 15-16 ขั้น

“เทคโนโลยีจะไม่มีความหมายเลย หากองค์กรไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เร็ว ดังนั้นเราต้องใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ทุกอย่างต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อเทคโนโลยี” นายปิติกล่าวและว่า สิ่งที่ธนาคารกำลังทำอยู่นี้ก็เพื่อไปสู่การเติบโตของธนาคารอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการลดต้นทุน และการสร้างรายได้ที่เติบโตได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งรายได้ค่าธรรมเนียมปีนี้ก็ตั้งเป้าเติบโตราว 15-20% จากปีก่อน ขณะเดียวกันธนาคารจะพยายามรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยให้อยู่ในกรอบ 3.05-3.15% จากปีก่อนที่ NIM อยู่ที่ 3.13% ภายใต้เป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวม 8-10% ในปีนี้ ส่วนเงินฝากตั้งเป้าขยายตัว 10-12%

สำหรับทิศทางการเติบโตของสินเชื่อรวมที่จะไปถึงเป้าหมายในปีนี้ก็ต้องมาจากทุกด้าน เริ่มจากสินเชื่อรายใหญ่ หรือ “ลูกค้าธุรกิจ” ที่จะเป็นแรงหนุนสำคัญ โดย “เสนาธิป ศรีไพพรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าธุรกิจกล่าวว่า ปีนี้สินเชื่อลูกค้าธุรกิจจะเติบโตได้ 10% ดีกว่าปีก่อน ๆ โดยจะมาจากลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้รวมต่อปีตั้งแต่ 1,000-5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งจะส่งเสริมให้ลูกค้าหันมาทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินได้

ไม่เพียงแค่หวังการเติบโตด้านสินเชื่อ แต่การเติบโตต้องแข็งแกร่งด้วย โดยธนาคารจะเน้นการเชื่อมโยงลูกค้ามากขึ้น โดยส่งเสริมให้ลูกค้าหันทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการให้บริการ ลดต้นทุนทางการเงินได้

ส่วน “ธุรกิจสินเชื่อเอสเอ็มอี” ปีนี้ทีเอ็มบีมีแผนจะรุกมากขึ้น โดย “เทียนทิพย์ นาราช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าเอสเอ็มอี กล่าวว่า เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และธนาคารมีเครื่องมือในการคัดกรองความเสี่ยงที่ดีขึ้น ทั้งผ่านการมีบิ๊กดาต้าที่จะมาช่วยวิเคราะห์การให้สินเชื่อที่ดีขึ้น ดังนั้นจะเห็นการเติบโตสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 8% จากยอดสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ 90,000 ล้านบาท

ด้าน “รูว์ ไฮซ์แมน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้ารายย่อย กล่าวว่า กลยุทธ์หลักในการเพิ่มฐานลูกค้ารายย่อย คือ เน้นเพิ่มลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เช่น การมี TMB All Free ฟรีค่าธรรมเนียม TMB No Fixed ฝากไม่ประจำแต่ดอกเบี้ยสูง หรือแคมเปญสะสมคะแนน WOW ที่จะจูงใจให้ลูกค้าทำธุรกรรมกับธนาคารมากขึ้น ส่วน TMB Advisory หรือที่ปรึกษาด้านการลงทุน ก็ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อกองทุนได้เองถึง 8 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีกองทุนให้บริการหลากหลายประเภท

นอกจากนี้ แอปพลิเคชั่น TMB TOUCH Mobile App ก็เป็นอีกด้านที่จะช่วยผลักดันให้ลูกค้าใช้บริการมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนผู้ใช้งานจากปัจจุบันอยู่ที่ 35% เพิ่มมาเป็น 75% ของลูกค้าแอ็กทีฟด้วย ซึ่งจะมีฟีเจอร์ให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น

ปีนี้แบงก์ทีเอ็มบีคงถูกจับตาฝีมือการบริหารของซีอีโอ “ปิติ” และทีมบริหาร ที่จะเดินไปถึงเป้าหมายได้