BJC เคาะแผนนำ “บิ๊กซี รีเทล” ขาย IPO เข้าตลาดหุ้น ไม่เกิน 29.98%

BJC

บอร์ด BJC อนุมัติแผนนำหุ้น ‘บิ๊กซี รีเทล’ IPO จำนวนไม่เกิน 29.98% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว มูลค่าพาร์ 10 บาทต่อหุ้น ลุยนำเงินระดมทุนขยายธุรกิจ-ปรับโครงสร้างทางการเงิน-ชำระหนี้ โชว์งบการเงินสิ้นปี 2565 รายได้รวม 113,573 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,756 ล้านบาท

วันที่ 27 มีนาคม 2566 บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการนำหุ้นสามัญของ BRC เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดย BRC ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีก

และการค้าส่งของตนเอง โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้นสามัญของ BRC ที่จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 29.98% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งหมดของ BRC ภายหลังการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO

ซึ่งรวมจำนวนหุ้นสามัญที่จะจัดสรรให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (หากมี) มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้น โดยยังไม่ได้มีการกำหนดราคาเสนอขาย โดยภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของ BRC และ BRC จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเช่นเดิม

ทั้งนี้แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ BRC ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อการเสนอขายหุ้น IPO มีผลใช้บังคับแล้ว และตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติคำขอให้รับหุ้นสามัญของ BRC เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

อย่างไรก็ดีการดำเนินการตามแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะส่งผลกระทบให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทใน BRC ลดลง (Dilution) จากเดิม 100% ของทุนชำระแล้วของ BRC (ก่อนการออกและเสนอขายหุ้นของ BRC ในครั้งนี้) เป็นไม่ต่ำกว่า 70.02% ของทุนชำระแล้วของ BRC ภายหลังการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งรวมจำนวนหุ้นสามัญที่จะจัดสรรให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (หากมี)

ปัจจุบัน BRC มีทุนจดทะเบียน 1.24 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1.24 หมื่นล้านหุ้น และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 87,135 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 8,713 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยบริษัทถือหุ้น BRC ในสัดส่วน 100%

คณะกรรมการของ BRC มีจำนวน 16 ท่านคือ 1.นายเจริญ สิริวัฒนภักดี 2.นางวิภาดา ดวงรัตน์ 3.นายสิทธิชัย ชัยเกรียงไกร 4.นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล 5.นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล 6.นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ

7.นางเมทินี ชโลธร 8.นางดนุชา คุณพนิชกิจ 9.นายสุทธิชัย สังขมณี 10.นายทองเปลว กองจันทร์ 11.นายบณุยฤทธิ์ กัลยาณมิตร 12.พลตำรวจเอกเอก อังสนานนท์ 13.นายวัชรา ตันตริยานนท์ 14.นายภิรมย์ กมลรัตนกุล 15.นายประสิทธิ์ โฆวิไลกลู และ 16.นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย

ปิดสิ้นปี 2565 ทาง BRC มีรายได้รวม 113,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อน มีกำไรสุทธิ 6,756 ล้านบาท ลดลง 7.9% โดยมีสินทรัพย์รวม 336,833 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 155,660 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 181,173 ล้านบาท

โดยตามแผนเงินระดมทุนจากการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO ที่ BRC ได้รับบางส่วนจะถูกนำไป 1.ชำระหนี้ที่กลุ่ม BRC กู้ยืมจากบริษัท และบริษัทอาจนำเงินที่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวไปชำระหนี้บางส่วนของบริษัท ซึ่งจะช่วยให้ภาพรวมฐานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทมีความแข็งแรงขึ้น

2.การนำ BRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยลดภาระของบริษัทในการให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ BRC และจะเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ และเพิ่มช่องทางระดมทุนให้กับ BRC ให้สามารถระดมทุนได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายธุรกิจ

3.เมื่อหุ้นของ BRC เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน หุ้นของ BRC จะมีสภาพคล่องมากขึ้น และมีราคาตลาดอ้างอิง ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้อ้างอิงในการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ หรือใช้เป็นสิ่งตอบแทนเพื่อชำระราคา การทำรายการซื้อขายสินทรัพย์หรือกิจการในอนาคต

4.ส่งเสริมชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ BRC ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการแสวงหาบุคลากร หรือพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในธุรกิจเกี่ยวกับการค้าปลีก (Retail) และการค้าส่ง (Wholesale)

“แผนการนำเงินระดมทุนไปใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของ BRC รวมถึงชำระหนี้บางส่วนของ BRC และใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ จะกำหนดรายละเอียดวัตถุประสงค์การใช้เงินไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ BRC ต่อไป”