แห่ระดมทุน ICO-คริปโตฯ ฉวยจังหวะ “สุญญากาศ” ไร้ผู้กำกับ

แม้ว่าที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะได้รับมอบหมายจาก “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เป็นแกนนำหาแนวทางกำกับดูแลการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล หรือ ICO (initial coin offering) รวมทั้งเรื่องของสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) ซึ่งกำชับว่าจะต้องเร่งหาข้อสรุป พร้อมขีดเส้นตายในเดือน มี.ค.นี้

ทว่าในช่วงนี้กระแสการระดมทุน ICO ถือว่าอยู่ในช่วงฝุ่นตลบ เนื่องจากเป็นช่วงสุญญากาศที่ยังไม่มีกฎกติกาการกำกับดูแลจากภาครัฐออกมา ทำให้ช่วงเวลานี้จึงมีทั้งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯและบริษัทนอกตลาดที่แห่เปิดระดมทุน ICO กันหลากหลายสไตล์ ขณะที่เวลานี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ทำได้เพียงการขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์ ไม่ให้สนับสนุนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล

4 หน่วยงานเร่งสรุปกำกับเงินดิจิทัล

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ที่ประกอบด้วย 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก.ล.ต. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะหาข้อสรุปการกำกับดูแลเงินดิจิทัลให้เสร็จก่อนวันที่ 8 มี.ค. ที่บอร์ด ก.ล.ต.จะมีการประชุม

ขณะนี้ 4 หน่วยงานกำลังหารือกันอยู่ว่า รูปแบบการลงทุนที่จะต้องมีการกำกับดูแลรวมถึงวิธีการกำกับดูแลจะเป็นอย่างไร และแต่ละหน่วยงานจะรับผิดชอบส่วนใดบ้าง เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ก่อนที่จะออกข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายพรชัยกล่าวว่า การระดมทุนด้วยเงินดิจิทัลต้องมีการยืนยันตัวตน (KYC) เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูลของทั้งผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนได้ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น เงินลงทุนจะได้ไม่สูญหายไปหมด เหมือนกรณีประเทศญี่ปุ่นที่ถูกแฮกข้อมูลก็ยังสามารถติดตามข้อมูลได้ว่าไปถึงใครบ้าง

ก.ล.ต.ประชุมบอร์ดเคาะเกณฑ์ ICO

ขณะที่ นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.เตรียมเสนอหลักเกณฑ์การกำกับดูแลระดมทุน ICO สำหรับการออกและเสนอขายดิจิทัลโทเคนที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ ให้ที่ประชุมบอร์ด ก.ล.ต.พิจารณาในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ เกณฑ์ที่จะออกมามีทั้งเรื่องการจำกัดการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อย เช่น การจำกัดวงเงินการซื้อขายได้ไม่เกิน

3 แสนบาทต่อคนต่อ ICO เป็นต้น หรือการกำหนดเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะออก ICO รวมถึงอาจมีการครอบคลุมในส่วนของผู้ที่ให้บริการซื้อขายทั้งหมด อาทิ เจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เป็นสื่อกลางในการซื้อขายที่ต้องมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และกระทรวงการคลังต้องการให้ ก.ล.ต.กำกับดูแลการระดมทุนแบบ ICO ให้ครอบคลุมทุกประเภทดิจิทัลแอสเซตด้วย รวมถึงคริปโตเคอเรนซี่ ให้ออกมาพร้อม ๆ กัน ซึ่งต้องดูในแง่ของกฎหมายว่าต้องปรับแก้อะไรหรือไม่ ซึ่งต้องรอผลการประชุมบอร์ด ก.ล.ต.ออกมาว่าจะประกาศเกณฑ์กำกับ ICO ที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ มาบังคับก่อนหรือไม่ ซึ่งหากอนุมัติก็อาจจะออกประกาศบังคับใช้ภายในไตรมาสแรกนี้

ขณะที่ นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่มีหน้าที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ บจ.ระดมทุน ICO อย่างไรก็ตามจากที่บริษัทจดทะเบียนใช้ความน่าเชื่อถือจากการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯระดมทุนดังกล่าว จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯให้ครบถ้วน ให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจการลงทุนด้วย

แบงก์เกาะติดพฤติกรรมลงทุนลูกค้า

ขณะที่หลังจาก ธปท.สั่งห้ามธนาคารพาณิชย์เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการให้บริการคริปโตเคอเรนซี่ ก็มีความเคลื่อนไหวจากธนาคารกรุงเทพ แจ้งกับทาง TDAX กระดานเทรดเงินดิจิทัลของไทยให้หยุดใช้บัญชีธนาคารกรุงเทพดำเนินธุรกรรมเงินดิจิทัล ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ได้สั่งให้ธนาคารกรุงไทยหยุดสนับสนุนการทำธุรกรรมซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลกับตลาด TDAX เช่นกัน

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารไม่พบบัญชีที่เข้าข่าย หรือเกี่ยวข้องกับคริปโตฯ ตามเกณฑ์ 5 ข้อของ ธปท. อย่างไรก็ตาม หากมีลูกค้าให้ธนาคารทำธุรกรรมซื้อขายคริปโตฯ ก็ต้องขอยกเลิกการทำธุรกรรมดังกล่าว และอาจปิดบัญชีลูกค้ารายดังกล่าวด้วย

ส่วนการกำกับดูแลในภาพรวมนั้น นายปรีดีกล่าวว่า ธนาคารก็อยู่ระหว่างรอความชัดเจน ซึ่งหากมีเกณฑ์อะไรออกมาก็ต้องปรับการดำเนินงานของธนาคารให้เป็นไปตามนั้น

“PPS-อนันดา” โดดร่วมวง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีบริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯต่างเตรียมการระดมทุน ICO กันอย่างคึกคัก เริ่มตั้งแต่ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ของเจมาร์ทที่ระดมทุนโดยขาย JFin Coin ซึ่งประสบความสำเร็จเพราะขายหมดเกลี้ยงภายใน 55 ชั่วโมง ได้เงินไปกว่า 600 ล้านบาท นับตั้งแต่วันเปิดพรีเซลวันแรก 14 ก.พ. 2561 โดยมีนักลงทุนซื้อรวม 2,119 คน เตรียมนำ JFin Coin เข้าซื้อขายในตลาดรอง TDAX ตามกำหนดไม่เกิน 2 เม.ย.นี้

หลังเจฟินคอยน์ประสบความสำเร็จในการระดมทุน มีหลายบริษัทประกาศแผนทำ ICO อาทิ บมจ.โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส (PPS) ประกาศร่วมกับพันธมิตร จัดตั้งบริษัทร่วมทุนโปรฟิน กรุ๊ป เตรียมเสนอขาย Profin Coin จำนวน 500 ล้านโทเคน วันที่ 15-30 มี.ค.นี้ ถือเป็น ICO ประเภทที่มีสินทรัพย์หนุนหลังรายแรกของไทย โดยระบุว่าเงินที่ระดมทุนได้จะนำไปใช้ให้บริการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่มีลูกหนี้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน

ด้าน นายชานนท์ เรืองกฤติยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ประกาศตัวว่า อยู่ระหว่างศึกษาระดมทุนแบบ ICO ภายใต้ชื่อ IDEO COIN เช่นกัน เพราะถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยสร้างโอกาสให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ระดมทุนและนำโทเคนที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลมาชำระเป็นค่าบริการส่วนกลาง เป็นต้น แต่แผนทำ ICO ของบริษัทยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้

บริษัทนอกตลาดแห่ ICO คึกคัก

นอกจากนี้ บริษัท สยามสแควร์เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นคัดเลือกหุ้นและกองทุนรวม “สต๊อกเรดาร์” ประกาศทำ ICO ชื่อ “Carboneum” จำนวน 120 ล้านโทเคน มูลค่ารวม 12 ล้านดอลลาร์ เปิดขายช่วงพรีเซล 22 มี.ค.-22 เม.ย.นี้ โดยการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปพัฒนาระบบ social trading สำหรับซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลก รวมทั้งบริษัท คริปโตเวชั่น จำกัด โดยมี นายพลเดช อนันชัย เป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประกาศร่วมมือกับ Asia Wealth Group ระดมทุนผ่านการ ICO เพื่อทำการวิจัยพัฒนาแพลตฟอร์ม และ robo-advisory ซึ่งเป็นบริการ


หุ่นยนต์แนะนำการลงทุนในตลาดคริปโตเคอเรนซี่ โดยจะเปิดระดมทุนภายในเดือน มิ.ย.นี้