ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเผยดัชนีภาคการผลิต หนุนเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเผยดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอ หนุนเฟดชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ปัจจัยในประเทศ คาดสงกรานต์ปีนี้คึกคัก หลังหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกลับมาจัดงานเต็มรูปแบบครั้งแรกในรอบ 3 ปี

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 4 เมษายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/4) ที่ระดับ 34.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/4) ที่ระดับ 34.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.2 ในเดือน มี.ค. จากระดับ 47.3 ในเดือน ก.พ. แต่ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 49.3 ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ

               

และสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 46.3 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.5 จากระดับ 47.7 ในเดือน ก.พ. เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เทศกาลสงกรานต์ในปี 2566 บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยคาดว่าจะมีความคึกคักมากขึ้น โดยในปีนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลายพื้นที่กลับมาจัดงานประเพณีสงกรานต์อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการกลับมาจัดกิจกรรมสาดน้ำได้ในรอบ 3 ปี

และจากผลสำรวจสะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 5.1 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 66 นี้ น่าจะมีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.18 – 34.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/4) ที่ระดับ 1.0898/1.0902 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/4) ที่ระดับ 1.0849/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยเอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยในวานนี้ (3/4) ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิดขั้นสุดท้ายของสหภาพยุโรป (อียู) ปรับตัวลดลงในเดือน มี.ค.

ทั้งนี้ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค.ปรับตัวลดลง แตะระดับ 47.3 จาก 48.5 ในเดือน ก.พ. แต่สูงกว่าตัวเลขขั้นต้นสำหรับเดือน มี.ค.ที่ 47.1 โดยนายคริส วิลเลียมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจของเอสแอนด์พี โกลบอล กล่าวว่า การผลิตในยูโรโซนยังคงประสบปัญหา โดยโรงงานต่าง ๆ รายงานว่าความต้องการสินค้าลดลงเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น นโยนายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น การเปลี่ยนมาตรการระบายสินค้าคงคลัง และความเชื่อมั่นของลูกค้าที่ตกต่ำลง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0884 – 1.0937 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0925/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/4) ที่ระดับ 132.62/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/3) ที่ระดับ 133.34/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ นายฮิโรคาซุ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงวานนี้ (3/4) ว่า ญี่ปุ่นจะผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มพรมแดนให้กับนักเดินทางที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่วันพุธที่ 5 เม.ย.นี้ เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.18 – 132.98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.91/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน ก. พ. (4/4), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน มี.ค. จาก ADP (5/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (7/4) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค. ของสหรัฐ (7/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ -10.6-10.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐฯ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า  1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.3/-8.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ