กนง.ส่องจุดเสี่ยง “ค่าเงิน-หนี้เสีย”

จากผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งแรกของปี 2561 เมื่อ 14 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เพื่อผ่อนปรนเพื่อให้เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องในปีนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวชัดเจนและเข้มแข็งมากขึ้น แต่ก็เพราะอานิสงส์มาจากอุปสงค์ด้านต่างประเทศ ที่ส่งผลบวกต่อภาคส่งออกและท่องเที่ยวของไทยให้ขยายตัวสูง แต่ทว่าอุปสงค์ในประเทศยังไม่สามารถปรับตัวเข้มแข็ง เรียกว่ายังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนก็ยังสูง ตลาดแรงงานยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่ กดกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอ่อนแอ

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงานฉบับย่อของ กนง. ของการประชุมนัดแรกนี้ โดยได้ส่งสัญญาณให้ติดตามความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่จะกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากต่างประเทศ ทั้งจากการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด

ขณะที่ความเสี่ยงที่ กนง.จับตาใกล้ชิด คือ ด้าน “ตลาดเงิน” เพราะช่วงที่นักลงทุนต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk-off) จากตลาดโลก หลังจากที่เดือนก.พ. นักลงทุนคาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเฟดเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่ประเมินไว้ สะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐ จึงเห็นการทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลก ปรับลดลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นระยะสั้นและเงินทุนไหลออกจากบางประเทศในภูมิภาค

ส่วนฝั่งของไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย กลับปรับลดลงสวนทางสหรัฐ เพราะมีความต้องการลงทุนของต่างชาติและนักลงทุนไทยที่สูงอยู่ ผลจากเงินไหลเข้านี้ทำให้เดือน ม.ค. เกิดภาวะเงินบาท “แข็งค่า” รวดเร็วและแข็งค่า “มาก” กว่าหลายสกุลในภูมิภาคด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากดุลบัญชีเดินสะพัด “เกินดุล” อยู่ในระดับสูงของไทย แต่ในเดือน ก.พ. ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง สะท้อนถึงตลาดเงินมีความผันผวนสูงขึ้น ขณะที่ปีนี้คาดว่าไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอีกระยะหนึ่ง จึงยังมีความจำเป็นต้องอาศัยนโยบายของหลายภาคส่วนเข้ามาช่วย เช่นการเร่งรัดโครงการลงทุนของรัฐให้เป็นตามแผน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีแผนนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ การสนับสนุนให้นักลงทุนรายย่อย สถาบันออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อจะได้ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุล และลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้

อีกความเสี่ยงที่ต้องติดตามในภาคการเงิน คือ ปัญหาหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แม้ว่าโดยรวมจะทรงตัว แต่พบว่ายังต้องระวังและติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ “เอสเอ็มอีขนาดเล็ก” ในบางธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ และเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อ 2-3 ปีก่อนหน้า ทำให้อัตราดอกเบี้ยในช่วงแรกต่ำ แต่หลังจากพ้นช่วงโปรโมชั่นแล้ว พบว่า ลูกค้าส่วนหนึ่งมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้

นอกจากนี้ ยังพบว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีโอกาสเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าจะอยู่ในกลุ่มเกษตรกรและมีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมาก ดังนั้นจึงยังเห็นความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อทั้งประเภทสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อครัวเรือนอยู่ต่อไป

ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินพบว่านักลงทุนมีการเปิดรับความเสี่ยงการลงทุน (risk appetite) มากขึ้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) สะท้อนจากการลงทุนในกองทุนรวมที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายปี 2560 กองทุนรวมตราสารหนี้ประเภท daily fixed income fund เร่งตัวขึ้น หรือการลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่พบว่าเงินรับฝากยังเติบโตเร็วกว่าสินเชื่อ

รวมไปถึงภาคเอกชนที่เริ่มกลับมาออกตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bonds) มากขึ้น ในไตรมาส 4 ปี 2560 แม้ส่วนใหญ่จะเป็นการออกตราสารหนี้ระยะสั้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ แต่ต้องติดตามสำหรับบริษัทที่ฐานะการเงินไม่เข้มแข็ง และอาจเข้ามาพึ่งพาการระดมทุนผ่าน unrated bonds (หุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ) ได้

กนง.มองว่า ความเสี่ยงของไทย ยังมีหลายด้านที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ภายใต้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ ในปีนี้ที่ยังประเมินออกมาดูดี