ธ.ก.ส.ลุยธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ ครบวงจรป้อนเอสเอ็มอีเกษตรส่งออก

คลังเปิดทาง ธ.ก.ส. ลุยธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ หนุนบริการครบวงจรปั้นเอสเอ็มอีเกษตรส่งออก พร้อมคาดครบ 3 ปีจ่ายสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตรได้ตามเป้า 7.2 หมื่นล้านบาท เตรียมชงบอร์ดเดือน มี.ค.นี้ ต่ออายุโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีอีก 5 หมื่นล้านบาทถึงสิ้น มี.ค. 63 คิดดอกเบี้ยต่ำ 4% 3 ปีแรก หวังสร้างหัวขบวนภาคเกษตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ลงนามออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อและบริการทางการเงินด้านธุรกิจการค้าต่างประเทศ ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2561 เป็นต้นไป

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกาศดังกล่าว เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ธ.ก.ส.ได้มีมติเห็นชอบให้ธนาคารขยายธุรกิจการให้บริการด้านธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ (เทรดไฟแนนซ์) ได้ เนื่องจากขณะนี้ธนาคารมีนโยบายที่จะเข้าไปพัฒนาสนับสนุนเอสเอ็มอีเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเชื่อมโยงกับการส่งออกมากขึ้น ซึ่งแต่เดิม ธ.ก.ส. จะต้องไปจับมือกับธนาคารอื่นในการสนับสนุนเทรดไฟแนนซ์ให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ส่งออก

“ประกาศที่ออกมา จะทำให้ ธ.ก.ส.ทำธุรกรรมได้ครอบคลุมมากขึ้น แต่แบงก์ก็ไม่ได้ผลีผลาม โดยหลังจากประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว เราก็ต้องเตรียมความพร้อมภายในองค์กร ทั้งด้านบุคลากร การจัดทำคู่มือ วิธีการปฏิบัติ โปรดักต์ และการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายก็จะเป็นเอสเอ็มอีเกษตรที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เราก็เลือกเอาจากเอสเอ็มอีเกษตรที่เป็นหัวขบวนที่เราดูแลอยู่” นายสมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ในระยะแรก ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอีเกษตรที่จะส่งออกไว้เบื้องต้น 10-20 รายก่อน ซึ่งมีทั้งเอสเอ็มอีเกษตรที่ส่งออกผลไม้แปรรูป เอสเอ็มอีเกษตรที่ส่งออกผลไม้สดที่เน้นคุณภาพ เอสเอ็มอีเกษตรที่ส่งออกข้าวอินทรีย์ ฯลฯ โดยธนาคารจะเข้าไปสนับสนุนเทรดไฟแนนซ์ให้ ขณะเดียวกันภายในองค์กรก็จะมีการขยายกลุ่มงานที่ดูแลเรื่องเทรดไฟแนนซ์ ซึ่งระยะแรกให้อยู่ภายใต้ฝ่ายการธนาคารก่อน และอนาคตอาจจะยกระดับขึ้นเป็นฝ่ายต่อไป

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับการให้สินเชื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีเกษตร ซึ่งจะกำลังจะครบระยะเวลาโครงการ 3 ปี ในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ (เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ. 2559-31 มี.ค. 2561) ถึงขณะนี้ประเมินว่า จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.การจ่ายเงินสินเชื่อน่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 72,000 ล้านบาท และน่าจะมีสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างอยู่ที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นจำนวนเอสเอ็มอีเกษตรที่ได้รับสินเชื่อกว่า 20,000 ราย

ขณะที่ในปีบัญชี 2561 (1 เม.ย. 2561-31 มี.ค. 2562) ธ.ก.ส. จะเสนอคณะกรรมการธนาคารที่จะประชุมภายในเดือน มี.ค.นี้ ทำโครงการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตรอีก 50,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี (1 เม.ย. 2561-31 มี.ค. 2563) ซึ่งจะเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับเอสเอ็มอีเกษตรให้เป็นหัวขบวน เพื่อให้สามารถช่วยเกษตรกรที่ทำการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำด้วย

“โครงการใหม่ เราจะทำอย่างเข้มข้นมากขึ้น เน้นสร้างหัวขบวนเอสเอ็มอีเกษตร ให้มีความเข้มแข็งและสามารถช่วยเกษตรกรต้นน้ำได้ โดยสินเชื่อที่ให้จะมีระยะเวลาเงินกู้ 10 ปี ซึ่งการคิดดอกเบี้ยจะยืดหยุ่นมากขึ้น คือจะคิดดอกเบี้ย 4% ต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก และหลังจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี (MRR) แต่ทั้งนี้จะพิจารณาตามความเสี่ยงด้วย บางรายอาจจะได้ดอกเบี้ย MRR ลบ ถ้าเสี่ยงน้อยก็จะมีลดให้ด้วย” นายสมศักดิ์กล่าว