“สรรพากร-กรมพัฒน์” เชื่อมระบบ”อี-ไฟลิ่ง” หนุนนิติบุคคลกว่า 6 แสนราย ยื่นงบการเงินอีเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว

“สรรพากร-กรมพัฒน์” จับมือเชื่อมระบบ “อี-ไฟลิ่ง” ผลักดันนิติบุคคลกว่า 6 แสนรายยื่นงบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ 100% ณ จุดเดียว ตั้งเป้ายกอันดับยาก-ง่ายธุรกิจพรวด 16 อันดับ อธิบดีสรรพากรชงขุนคลังเห็นชอบแนวทางเก็บภาษี “อี-บิสซิเนส” ใน มี.ค.นี้

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลงบการเงินสำหรับผู้ประกอบการที่นำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ของกรมสรรพากร

โดยปีนี้ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งเป้าหมายจะมีนิติบุคคลกว่า 6 แสนรายมายื่นงบการเงินผ่าน e-Filing ทั้ง 100% ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการจะได้รับความสะดวกและลดต้นทุนด้านเอกสาร เพราะเป็นเอกสารชุดเดียวกันอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามายื่นซ้ำให้กรมสรรพากรอีก ในช่วงที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษี ภ.ง.ด.50 ภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้

“ส่วนแง่การเก็บภาษี คงไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากการเก็บภาษีจะพิจารณาจากกำไรเป็นสำคัญ” นายประสงค์กล่าว

นอกจากนี้ภายในเดือน มี.ค.นี้ ทางกรมจะเสนอ รมว.คลังพิจารณาเห็นชอบแนวทางการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการให้บริการในต่างประเทศ และจากการนำเข้าสินค้าที่นำเข้าผ่านทางไปรษณีย์ตั้งแต่บาทแรกของราคาสินค้า จากเดิมมีการยกเว้นในกรณีนำเข้าผ่านไปรษณีย์สำหรับสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท หลังจากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ระบบ DBD e-Filing เป็นระบบการรับงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้พัฒนามาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันมีผู้ใช้บริการกว่า 88% ของจำนวนผู้ที่ยื่นงบการเงินทั้งประเทศจำนวนราว 6.8 แสนราย ขณะที่ในปีบัญชี 2560 ที่ต้องยื่นงบการเงินภายในวันที่ 31 พ.ค. 2561 มีผู้เข้าข่ายต้องยื่นงบการเงินทั้งสิ้น 6.2 แสนราย ซึ่ง 2 กรมเชื่อมระบบเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถยื่นงบการเงินผ่านช่องทางของหน่วยงานใดก็ได้ ขณะที่ทางกรมสรรพากรก็สามารถนำข้อมูลไปตรวจสอบงบการเงินเพื่อดูความถูกต้องด้านการเสียภาษีได้เลย


ทั้งนี้ เมื่อสามารถลดต้นทุนและเวลาในการทำธุรกิจได้ จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งระบบ DBD e-Filing เป็นหนึ่งในส่วนที่ธนาคารโลกจะนำไปพิจารณาอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยตั้งเป้าหมายว่าปีนี้ประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับเลื่อนขึ้นมาอยู่ที่ 20 จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 36