“สรรพากร” ชง รมว.คลังเก็บภาษีอีบิสซิเนส บีบผู้ให้บริการต่างประเทศจดทะเบียนเสีย VAT ให้ไทย

กรมสรรพากรชง รมว.คลังเก็บภาษีอีบิสซิเนส บีบผู้ให้บริการต่างประเทศจดทะเบียนเสีย VAT ให้ประเทศไทย พร้อมเสนอเก็บ VAT สินค้านำเข้าผ่านไปรษณีย์ตั้งแต่บาทแรก อัพเดตคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท ยันคืนภาษีไม่ช้า

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ในเดือน มี.ค.นี้ กรมเตรียมเสนอแนวทางการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการให้บริการในต่างประเทศ ให้ รมว.คลัง พิจารณา หลังจากได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะมาก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน มี.ค.นี้เช่นกัน

โดยการเก็บภาษี e-Business ตามกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการเก็บ VAT จากผู้ให้บริการในต่างประเทศ ที่มีรายรับที่เกิดจากการขายสินค้าและบริการในประเทศไทย 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ซึ่งจะต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับกรมสรรพากร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ

นอกจากนี้ ในคราวเดียวกันนี้ ยังเสนอให้มีการเก็บภาษี(VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่นำเข้าผ่านทางไปรษณีย์ตั้งแต่บาทแรกของราคาสินค้า จากเดิมที่มีการยกเว้นในกรณีนำเข้าผ่านไปรษณีย์สำหรับสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาทอีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ในขณะนี้ นายประสงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้เสียภาษียื่นแบบเข้ามาแล้วประมาณ 3.3 ล้านราย ยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ยื่นเข้ามา 4 ล้านราย เนื่องจากผู้เสียภาษีจำนวนหนึ่งต้องรอหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันสุขภาพ จากบริษัทประกัน เพื่อนำมาใช้ลดหย่อนภาษี

“กรมสรรพากรได้คืนเงินภาษีไปแล้ว 80-90% ของผู้ขอคืนภาษีจำนวน 8-9 แสนราย หรือคิดเป็นเงินคืนภาษีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท จากที่ประเมินปีนี้จะมีขอคืน 4 หมื่นล้าน โดยผู้ที่ขอคืนภาษี ปีนี้มีการขอคืนผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ถึง 90% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ขอคืนผ่านพร้อมเพย์ 80% ทั้งนี้ ยืนยันว่าการคืนภาษีในปีนี้ไม่มีความล่าช้า หากมีการตรวจสอบเอกสารที่ครบถ้วน ส่วนผู้ขอคืนภาษีที่ยังไม่ได้รับเงินคืนราว 10% ส่วนใหญ่ต้องยื่นเอกสารเพิ่ม” นายประสงค์กล่าว

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. กรมสรรพากรได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการรับและนำส่งข้อมูลการเงินให้กรมสรรพากรสำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-filing) กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเป็นการเชื่อมระบบเข้ากับระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้นิติบุคคลสามารถยื่นงบการเงินผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพียงจุดเดียว ไม่ต้องยื่นซ้ำที่กรมสรรพากรอีก โดยยื่นเพียงแต่แบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ภายในวันที่ 31 พ.ค.2561 เท่านั้น

ทั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยลดภาระต้นทุน และ เวลาของผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การมีอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยที่ดีขึ้น

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ได้เปิดให้นิติบุคลยื่นงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-filing) มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันมีนิติบุคคลยื่น DBD e-filing แล้ว 88% จากจำนวนนิติบุคคลทั้งสิ้น 6.8 แสนราย ซึ่งสำหรับในปีนี้นิติบุคคลที่ต้องยื่นงบการเงินมีจำนวน 6.2 แสนราย โดยกรมตั้งเป้าหมายยื่นผ่าน DBD e-filing ทั้ง 100% และตั้งเป้าเพิ่มอันดับความยาก-ง่ายการทำธุรกิจในด้านที่เกี่ยวข้อง ให้ขยับขึ้นจากอันดับ 36 ขึ้นเป็นอันดับ 20