จีนนำร่องโครงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย นายไหว่-ซิน-ฉาน ธนาคารเอชเอชบีซี

แผนยุทธศาสตร์ Belt and Road ของจีน ซึ่งเป็นเครือข่ายการค้าที่ครอบคลุมเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรโลก และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29 ของจีดีพีโลก ได้รับการขนานนามจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่า เป็น “โครงการแห่งศตวรรษ” แต่อภิมหาโครงการที่ว่านี้จำเป็นต้องก่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

แผนริเริ่มดังกล่าวมุ่งหวังจะเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั้งทางบก-นั่นคือ หนึ่งแถบ (Belt) ที่เชื่อมโยงจีน เอเชียกลาง รัสเซีย เข้ากับยุโรป และทางทะเล-หรือหนึ่งเส้นทาง (Road) ที่เชื่อมจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และแอฟริกา ซึ่งสามารถก่อกำเนิดเส้นทางสายไหมใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ หลายปีมานี้จีนเดินหน้าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ แต่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอันมหาศาลของจีน ราว 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สามารถใช้เป็นแหล่งทุนสำรองในการระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก และเนื่องจากจีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จีนจะแสดงบทบาทผู้นำด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก แต่ได้ยอมรับข้อตกลงภายในประเทศว่าด้วยสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส ขณะนี้จีนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงกว่าเมื่อ 35 ปีก่อนถึงร้อยละ 73 ต่อหน่วยของจีดีพีที่แท้จริง ถึงแม้ว่าจะยังคงมีสัดส่วนถึงราว 1 ใน 4 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก

เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมภายในประเทศของจีนได้ถูกสอดแทรกไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ปี 2549 เราคิดว่าเป้าหมายระยะกลางสามารถสำเร็จลุล่วงได้ ซึ่งรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป้าหมายด้านความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (energy intensity) และการลดมลพิษ โดยความสำเร็จในประเทศจีนสามารถเป็นแนวทางให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินรอยตามได้

การพิจารณาปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายแห่งยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไป

การออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากจะคำนึงถึงรูปแบบการใช้งานที่สำคัญแล้ว ยังต้องรับมือกับความเสื่อมสภาพในอนาคตที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ด้วย ความรุนแรงของภัยพิบัติหลายครั้งหลายคราเมื่อเร็ว ๆ นี้ อาทิ น้ำท่วม พายุ และไฟป่า เป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานจึงควรจะมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สูงขึ้น แม้ว่าจะต้องแบกรับต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นก็ตาม การตระเตรียมให้โครงสร้างพื้นฐานมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีความคุ้มค่ามากกว่าการก่อสร้างขึ้นใหม่ภายหลังเกิดภัยพิบัติแล้ว

โดยปกติแล้ว โครงสร้างพื้นฐานมีอายุใช้งานยาวนานหลายสิบปี และการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีแนวโน้มอยู่ในระดับคงที่ตลอดช่วงอายุโครงการ ดังนั้น การนำเทคโนโลยีที่ใหม่กว่ามาปรับใช้เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความยั่งยืนที่มากขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เราเชื่อว่าการระดมทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญในการตระหนักถึงการลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนในอนาคต ธนาคารจีนกำลังเริ่มออกพันธบัตรสีเขียวที่มุ่งเน้นโครงการภายใต้แผน Belt and Road ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่การทำให้การระดมทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ในหมู่นักลงทุนรายอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้คำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในการลงทุน

ตลาดพันธบัตรสีเขียวของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปีที่แล้วจีนได้ออกพันธบัตรมูลค่า 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกินกว่า 1 ใน 5 ของปริมาณพันธบัตรสีเขียวทั้งหมดในโลก และเทียบกับในปี 2559 ที่มีการออกพันธบัตรเพียง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเครื่องมือระดมทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ สินเชื่อ หลักทรัพย์ ประกันภัย การฝากเงินและกองทุนที่มุ่งเน้นธุรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการยึดมั่นและถือปฏิบัติ แต่หาก “โครงการแห่งศตวรรษ” จะเป็นโครงการพัฒนาที่มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและยั่งยืน ก็ควรที่จะต้องระดมทุนในแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย