จับเข่าคุย “เกศรา มัญชุศรี” ผลงาน 4 ปี กับอนาคตตลาดทุนไทย

สัมภาษณ์พิเศษ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นส่วนสำคัญของกลไกเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะเป็นอีกช่องทางหลักที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ เข้าถึงแหล่งระดมทุนได้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในตลาดกว่า 700 บริษัท และมูลค่ามาร์เก็ตแคปรวมกว่า 18.16 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมาร์เก็ตแคปต่อจีดีพีไทยราว 120%

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เกศรา มัญชุศรี” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ต่อทิศทางของตลาดหลักทรัพย์ฯและความท้าทายของการพัฒนาตลาดทุนไทยในอนาคตในประเด็นต่าง ๆ เป็นการเปิดใจก่อนที่จะหมดวาระตำแหน่งผู้จัดการ ตลท.ในสิ้นเดือน พ.ค. 2561 นี้

Q : มองกระแสความอ่อนแอของธรรมาภิบาล บจ.ไทยอย่างไร

ต้องยอมรับว่าคนไทยและบริษัทไทยอาจไม่แข็งแกร่งในเรื่องของความเป็นมืออาชีพมากนัก เมื่อเทียบกับต่างชาติ จึงทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเน้นทำเรื่องแนวทางการแนะนำ (guideline) เพราะเชื่อมั่นว่าการมีการแนะนำที่ดีจะทำให้ บจ.รู้ว่าควรทำอะไรและทำงานได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันเรื่องคะแนนธรรมาภิบาลหรือ CG ของบริษัทไทยค่อนข้างดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นเรื่องที่ท้าทายหลังจากนี้คือสิ่งที่เราแนะนำไป บริษัทต่าง ๆ จะเอาไปทำจริงได้แค่ไหน และทำให้มันเป็นเรื่องปกติในชีวิต ไม่ใช่ทำเพราะเป็นเรื่อง ก.ล.ต.กับตลาดหลักทรัพย์ฯอยากให้ทำ ขณะที่สังคมก็เริ่มท้าทายหลายอย่างที่เห็น ๆ และปฏิกิริยาของคนก็แสดงให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสือดำ หรืออื่น ๆ อันนี้ก็จะเห็นว่าเรื่องพื้นฐานสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ และถือว่าเป็นเรื่องท้าทายในอนาคต

“สิ่งที่ตลาดอยากเห็นคือ บจ.ไปทำจริงแล้วได้ประโยชน์กับบริษัทเขาจริง ๆ ซึ่งหากทำแล้วได้ประโยชน์กับเขาแสดงว่ายั่งยืนและเขาก็จะทำต่อไป”

Q : สิ่งที่ตลาดจะผลักดัน บจ.ต่อไปคืออะไร

ตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นำแนวทางเรื่อง CG ของ ตลท.ไปดำเนินการเอง ซึ่งมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์จาก 5 หมวด เป็น 8 หมวด ซึ่ง ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการร่างเกณฑ์ระยะยาว ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะไม่ออกอะไรเพิ่มเติมแล้ว เพราะไม่อยากให้ บจ.สับสนว่าควรจะใช้แนวทาง CG ของใครดี ซึ่ง บจ.จะได้ยึดมาตรฐานเดียวกับของ ก.ล.ต. เพราะเป็นฝ่ายผู้กำกับอยู่แล้ว

โดย ก.ล.ต.จะเน้นไปสู่เรื่องของความยั่งยืน โดยใช้หลักเกณฑ์ที่ DJSI (ดัชนีหลักทรัพย์ที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท) นำมาเป็นหลักในการทำงาน ซึ่งจะทำให้ บจ.เห็นว่าบริษัทได้ประโยชน์ ไม่ใช่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ประโยชน์อย่างเดียว

“สิ่งที่ บจ.จะได้มากที่สุดคือมีคนอยากลงทุนในหุ้นของบริษัท การที่มีเรื่อง DJSI จะสะท้อนคุณภาพของ บจ.ว่าน่าเชื่อถือและเหมือนเป็นการการันตีให้เห็น ซึ่งเมื่อผู้ลงทุนชอบบริษัทที่มีความยั่งยืนเมื่อนั้น บจ.ก็จะยั่งยืน”

Q : ผลงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่เข้ามาเป็นผู้จัดการตลาดได้เคยพูดไว้ตั้งแต่แรกว่า “เราไม่ใช่เสือนอนกิน เราไม่ใช่คนที่จะอยู่เฉย ๆ แล้วบอกว่าบุญพาวาสนาส่ง” ให้มีธุรกรรมหรือธุรกิจได้ เพราะฉะนั้นที่เราคำนึงตั้งแต่ต้นคือทำอย่างไรที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีประสิทธิภาพและกำหนดเป้าหมายธุรกิจข้างหน้า ซึ่งเรื่องแรกคือ 1.การซื้อขายหุ้น 2.เรื่องของ CG และความยั่งยืน และ 3.ตัวของตลาดหลักทรัพย์ฯที่เป็นองค์กรหนึ่งในสังคม แต่ตัวเรายั่งยืนหรือเปล่า

เรื่องของการซื้อขายหุ้นนั้น มีการเดินสายไปหาบริษัทใหม่ ๆ ในต่างจังหวัดและในกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย สิ่งที่ต้องการบอกคือตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่ใช่ตลาดหลักทรัพย์แค่ในประเทศเท่านั้น ถึงเวลาที่เราจะต้องวางพื้นฐานการเป็นตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาคด้วย

หากดูข้อมูลย้อนหลังไป 4 ปี การนำบริษัทเข้าไอพีโอเราสูงที่สุดในอาเซียน โดยมีหุ้นเข้ามาใหม่ทั้งหมด 155 หลักทรัพย์ ขณะที่วอลุ่มการซื้อขายหลักทรัพย์ก็สูงที่สุดในช่วง 6 ปี และมาร์เก็ตแคปของตลาดไทยโตเฉลี่ยปีละ 15% ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าโตสูงที่สุดในภูมิภาค แม้ว่ามูลค่ามาร์เก็ตแคปโดยรวมจะยังเป็นรองตลาดสิงคโปร์ แต่เชื่อว่าในอนาคตเราจะแซงเขาได้แน่นอน

ขณะที่เรื่องของ CG และความยั่งยืนนั้น คะแนนคุณภาพบริษัทจดทะเบียนไทยก็สูงที่สุดในอาเซียน โดยมีบริษัทที่ติดอยู่ในดัชนี DJSI จำนวน 17 บริษัท ใกล้เคียงกับตลาดเกาหลีที่มีจำนวน 22 บริษัท และญี่ปุ่น 20 กว่าบริษัท และเมื่อปีที่แล้วตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ได้รางวัลตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ข้อมูลโปร่งใสยั่งยืนเป็นอันดับ 10 ของโลก ซึ่งถือเป็นตลาดในเอเชียแห่งเดียวที่อยู่ในอันดับ 1 ใน 10

“ทุกสิ่งที่เราทำมาจะบอกว่าเราต้องการทำฐานให้แน่น เพื่อที่จะบอกว่าเราไปไกลมากในเชิงที่ว่ามีความคืบหน้ามากทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจประเทศไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไหร่ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เราไปได้ในขณะที่จีดีพีหรือระบบอะไรของเราเดี๋ยวก็หยุด ๆ แต่เราไปต่อได้เรื่อย ๆ ผู้ลงทุนไทยก็ฉลาดขึ้น มีความรู้มากขึ้นและเข้าใจความเสี่ยง เข้าใจว่าจะลงทุนอะไร และวันนี้ก็เริ่มมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยง รวมถึงมีการลงทุนใน ICO แล้วด้วย”

Q : ภาพตลาดหลักทรัพย์ฯในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้ ตลท.มีการปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น ขณะที่คาดว่าข้างหน้าจะไม่ใช่แค่โมบาย แต่วิธีการจะเปลี่ยนไปเลย เรื่องที่สำคัญคือการระดมทุนแบบ ICO ซึ่งต้องบอกว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีที่เข้ามาจึงทำให้วิธีการเปลี่ยน ซึ่งคนอาจจะเชื่อถือโดยใช้บล็อกเชนในการซื้อขายมากขึ้น จากเดิมที่คนอาจไม่เชื่อจึงต้องมีตัวกลาง หรือต้องมีตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ในอนาคตเมื่อคนเชื่อเทคโนโลยีระบบมากขึ้น คนอาจใช้บล็อกเชนทำธุรกรรมด้วยกันเองโดยไม่ต้องใช้ตัวกลาง เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ

ขณะที่ตลาดก็ต้องเตรียมตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เรื่องแรกคือการทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการภายในก็มีการปรับปรุงระบบทั้งหมด และประการที่สองคือ ไม่ย่อท้อต่อเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ ซึ่งสิ่งที่จะทำมากที่สุด การเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อพร้อมในการรับเทคโนโลยีใหม่และพร้อมที่จะแข่งขันกับคู่ต่อสู้ใหม่ ๆ

“ปัจจุบันเรากำลังปรับปรุงระบบภายในทั้งหมด เพราะว่าบิ๊กดาต้าเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเทคโนโลยีใหม่ โดยข้อมูลของ ตลท.ตอนนี้อาจยังไม่สมบูรณ์มาก เพราะลูกค้ารายบุคคลเป็นลูกค้าของโบรกเกอร์ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ ตลท.ทั้งหมด ซึ่งอนาคตอาจจะต้องเก็บรวมกัน ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์จึงเน้นเรื่องบิ๊กดาต้า และทั้งหมดทั้งมวลคือการเตรียมการที่จะไปอีกสเต็ปหนึ่งในอนาคต”

Q : มีอะไรจะส่งไม้ต่อถึงผู้จัดการคนใหม่บ้าง

เชื่อว่าผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ทุกคนมีคุณสมบัติ มีความสามารถที่จะเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เพราะฉะนั้นเขาต้องมีมุมมองในการที่จะทำอะไร และผู้จัดการท่านใหม่ก็เป็นคนที่คุ้นเคยกับตลาดอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เราก็ไม่ห่วงเพราะคนที่เป็นผู้จัดการตลาดนั้นแน่ทุกคน