SET ผนึก 59 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในภาคธุรกิจ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมมือ 59 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ยูเอ็นวีเมน (UN Women) สถานฑูตสวีเดนประจำประเทศไทย หนุนบทบาทผู้หญิงในภาคธุรกิจ ระบุ ตลาดทุนไทยมีคณะกรรมการบริษัทที่เป็น “ผู้หญิง” สัดส่วนเพิ่มขึ้น 83% ของบริษัทจดทะเบียนกว่า 600 บริษัทฯ และคิดเป็น 12% ที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำองค์กรระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ขณะที่ SET ไทยบทบาทผู้หญิงทำงานระดับสูงคิดเป็น 25% มุ่งมั่นผลักดันความเสมอภาคแก่ บจ.ยึดแนวทางปฏิบัติตาม

นางเกศรา มัญชุศรี กรรการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงานรณรงค์ “ลั่นระฆังสร้างความเท่าเทียม 2561” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมในการรณรงค์ร่วมกับ 59 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก และยูเอ็นวีเมน (UN Women) และสถานฑูตสวีเดนประจำประเทศไทย เพื่อเป้าหมายสำคัญในการผลักดันภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายในสังคม โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) แต่งตั้งผู้หญิงให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทและตำแหน่งบริหารในระดับสูง ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืน ในขณะที่สัดส่วนคณะกรรมการบริษัทที่เป็นผู้หญิงในภาคตลาดทุนไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 83% ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งหมด 600 กว่าบริษัทฯ มีกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคน และคิดเป็น 12% ของบริษัทจดทะเบียนมีผู้นำองค์กรในระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ที่เป็นผู้หญิงนับเป็นบทบาทของผู้หญิงเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ

“ปัจจุบันนี้พบว่ากว่า 51% ของประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 67 ล้านคน เป็นผู้หญิงราว 16 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานไทยและทำงานอยู่ในองค์กรชั้นนำ และมีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในระดับองค์กรและประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจเงิน เช่น ตลท.มีผู้หญิงทำงานคิดเป็นสัดส่วนกว่า 25% ซึ่งหน่วยงานของเราอนุญาตให้ผู้หญิงได้รับสิทธิลาคลอดได้ 3 เดือน แต่ยังสามารถรับเงินเดือนได้ตามปกติ ซึ่งเป็นตัวอย่างในการส่งเสริมและผลักดันความเสมอภาคให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งหมดสามารถยึดไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติตามได้” นางเกศรากล่าว


ปัจจุบันมีบริษัทการบินไทย และบริษัทกลุ่มเซ็นทรัลอยู่ในบรรดากว่า 1,000 กลุ่มธุรกิจทั่วโลกที่ลงนามในแถลงการณ์สนับสนุนของประธานกรรมการบริหารตามพันธะสัญญาส่งเสริมพลังสตรีแห่งสหประชาชาติ ของยูเอ็นวีเมน (UN Women) ซึ่งเป็นหลักการแห่งความเสมอภาคหญิงชายในด้านการเป็นผู้นำธุรกิจ การปฏิบัตอย่างเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายในที่ทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพลังให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วนและทุกระดับของกิจกรรมอย่างเต็มที่ และส่งผลต่อสังคมโลกโดยรวม