คลังเผยการจัดเก็บรายได้รัฐบาลครึ่งปีงบประมาณทำได้แล้วกว่า 1.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้า 9.5 หมื่นล้านบาท สรรพากรเก็บเกินเป้าสูงสุด 6.1 หมื่นล้าน ขณะที่สรรพสามิตเจอผลกระทบอุ้มภาษีน้ำมันรายได้หายวับกว่า 4 หมื่นล้านบาท
วันที่ 27 เมษายน 2566 นายพรชัย ชีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-มีนาคม 2566) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,163,599 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 95,084 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.9 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.9
โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ (1) กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงิน ได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจ (2) ส่วนราชการอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM
(3) รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้เหลื่อมจากปีงบประมาณก่อนหน้า และ (4) กรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวได้ดีประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่นและกรมศุลกากร ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ 61,673 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8
รายงานจากกระทรวงการคลัง ระบุว่าสำหรับกรมสรรพากรเก็บรายได้ 6 เดือนแรก จำนวน 915,222 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 62,521 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.3% และ สูงกว่าประมาณการ 95,211 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 11.6%
ขณะที่กรมสรรพสามิต เก็บรายได้จำนวน 237,640 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 38,812 ล้านบาท หรือลดลง 14% และต่ำกว่าประมาณการ 43,685 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 15.5% ส่วนกรมศุลกากรเก็บได้ 67,322 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 14,282 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.9% และสูงกว่าประมาณการ 14,622 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 27.7%