ยอดสินเชื่อบุคคลพุ่ง 6 แสนล้าน แข่งเดือด หั่นดอกเบี้ย 0% ชิงลูกค้าน้ำดี

ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลโตไม่หยุด 3 ปี ยอดบัญชีเงินกู้บุคคลเพิ่ม 4.18 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างทะลุ 6.01 แสนล้านบาท “แบงก์-น็อนแบงก์” รุมทึ้งผลตอบแทนสูง “เคทีซี” ประเมินปี’66 ขยายตัว 10-12% สัญญาณตลาดแข่งเดือด ยอมหั่นเรตดอกเบี้ย 0% ชิงลูกค้า “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” ชี้เกมแย่งกลุ่มลูกค้าเสี่ยงต่ำ “ซีไอเอ็มบี ไทย” ลุ้น ธปท.ออกเกณฑ์คุมวงเงินปล่อยกู้แก้หนี้ครัวเรือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานสถิติสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (ไม่รวมที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ามีอัตราการเติบโตต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทั้งในแง่จำนวนบัญชี และยอดสินเชื่อคงค้าง ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์)

โดย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่ามีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 17.42 ล้านบัญชี แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ 4.23 ล้านบัญชี และน็อนแบงก์ 13.18 ล้านบัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 602,217 ล้านบาท อยู่ในธนาคารพาณิชย์ 285,017 ล้านบาท และน็อนแบงก์ 317,200 ล้านบาท

หากดูในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2565) พบว่าจำนวนบัญชีรวมเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 4.18 ล้านบัญชี จากเดือนธันวาคม 2563 มีอยู่ 13.20 ล้านบัญชี มาอยู่ที่ 17.39 ล้านบัญชี ณ เดือนธันวาคม 2565 ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 171,730 ล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่ 429,904 ล้านบาท มาอยู่ที่ 601,634 ล้านบาท ในปี 2565 หรือคิดเป็นการเติบโต 39.94%

แข่งดุแย่งฐานลูกค้าใหม่

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้ ประเมินว่าทั้งระบบจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 10-12% โดยปัจจัยหนุนมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้นตามเศรษฐกิจ และการเปิดเมือง ทำให้เกิดการจ้างงานและมีรายได้ เกิดการใช้จ่าย

รวมถึงความต้องการใช้เงินของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการขยายการลงทุนในธุรกิจ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และภาพรวมหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด

ดังนั้น จะเห็นการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อขยายพอร์ตการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มน็อนแบงก์ ที่ต้องการขยายฐานลูกค้าใหม่ สะท้อนจากการทำแคมเปญ การใช้วงเงินกู้ ดอกเบี้ย 0% นาน 2-3 รอบบัญชี ซึ่งไม่ใช่ 0% เพื่อการผ่อนชำระสินค้า ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการทำแคมเปญลักษณะนี้มากขึ้น ถือเป็นแคมเปญที่ผู้ประกอบการค่อนข้างขาดทุน เพราะต้นทุนการเงินเฉลี่ยสูงกว่า 2-3% (ไม่รวม operating Cost) จึงเป็นสัญญาณว่าผู้ประกอบการต้องการขยายพอร์ตและฐานลูกค้าใหม่

KTC ถล่มดอกเบี้ยพิเศษแข่ง

นางสาวพิชามนกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการเสนออัตราดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้เห็นบางส่วน เช่น อัตราดอกเบี้ย 9.99% ต่อปี ใน 2 รอบบิลบัญชี และหลังจากนั้นจะปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ 25% ต่อปี หรือการเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษเรตเดียวทั้งโปรแกรม อาทิ 12.9% ต่อปี ในส่วนของเคทีซี ภายในวันที่ 1พฤษภาคม 2566 จะมีแคมเปญอัตราดอกเบี้ยพิเศษออกมาแข่งขันในตลาดเช่นกัน รวมถึงการจัดโปรแกรม “เคลียร์หนี้” สำหรับลูกค้ารายเดิมกว่า 7 แสนราย เพื่อลดภาระและรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้

สำหรับเป้าหมายธุรกิจในปี 2566 เคทีซีตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างขยายตัว 7% หรือมียอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีที่ 3.45 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสที่ 1/66 อยู่ที่ 3.27 หมื่นล้านบาท คิดเป็น
การเติบโต 10% จากปีก่อน

จับสัญญาณถอนเงินสดพุ่ง

อย่างไรก็ดี พบว่าสัญญาณการเบิกถอนเงินสดของลูกค้ามีอัตราการเติบโตชัดเจน โดยในช่วง 3 เดือนแรกมีการเติบโตระดับ 16.9% และเชื่อว่าในเดือนเมษายน-พฤษภาคมยอดการใช้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้เงินสดค่อนข้างสูง เพราะเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์และเปิดเทอม ซึ่งน่าจะมีอัตราการเติบโตราว 21%

“คุณภาพสินเชื่อเราให้ความสำคัญต่อเนื่อง ซึ่งช่วงไหนมีความเสี่ยงสูงเราก็ปรับหลักเกณฑ์ให้เข้มงวด ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ค่อนข้างดี หนี้เสียอยู่ในระดับต่ำ 2.8% เทียบกับระบบในปี’64 หนี้เสียอยู่ที่ 3.1% และปี’65 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.3% แต่ของเคทีซีอยู่ที่ 2.8% ถือว่าคุมได้ดี” นางสาวพิชามนกล่าว

กรุงศรีฯสมัครใช้บริการพุ่ง 23%

นางสาวพัทธหทัย กุลจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น น่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคกล้าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นผลบวกต่อการเติบโตสินเชื่อส่วนบุคคลในตลาด

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เป็นปัจจัยลบต่อความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2566 บริษัทมีลูกค้าสมัครสินเชื่อส่วนบุคคลใหม่ขยายตัว 23% จากปีก่อน โดยมียอดสินเชื่อใหม่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท บริษัทตั้งเป้าการเติบโตทั้งปี 2566 มียอดสินเชื่อบุคคลรวมเติบโต 9% และมีลูกค้าใหม่ 1.7 แสนบัญชี

ขณะที่ยอดกดเงินสดเริ่มเห็นพฤติกรรมลูกค้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้จ่าย โดยในไตรมาสแรกของปี 2566 มีอัตราเติบโต 11% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยคาดว่ายอดกดเงินสดของลูกค้าในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท

เกมแย่งกลุ่มลูกค้าเสี่ยงต่ำ

นางสาวพัทธหทัยกล่าวว่า สำหรับภาพรวมการแข่งขันในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล มองว่าตลาดจะเน้นเรื่อง digitalization และ risk-based pricing มากขึ้น (การคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า) โดยบริษัทจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำ ที่มีความต้องการสภาพคล่องในการใช้จ่าย และชูจุดขายที่แตกต่าง เช่น การสมัคร/อนุมัติง่าย อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนคืนได้นาน หรือวงเงินอนุมัติสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

อาทิ ลูกค้าใหม่อนุมัติบัตรไว ไม่เก็บค่าเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า จ่ายขั้นต่ำ 3% ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน วงเงินสูงสุด 5 แสนบาท พร้อมเครดิตเงินคืน 1,000 บาท ส่วนลูกค้าใหม่จากสถาบันการเงินที่มีความต้องการลดภาระการจ่ายดอกเบี้ย สามารถสมัครบริการรวมยอดสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำสุด 12.99% ต่อปี ตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระ ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน และลูกค้าปัจจุบันบริษัทจะพิจารณา customer profile และให้เรตดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้น 8.99% สำหรับลูกค้าที่มีประวัติดี

“ภาพรวมการผิดนัดชำระหนี้ของตลาดส่วนบุคคลทั้งระบบ ปัจจุบันอยู่ที่ 31,843 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียราว 5.3% ส่วนของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าทั้งระบบ และคาดว่ามีทิศทางลดลง โดยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 4.5%”

ลุ้น Q2 ธปท.ออกเกณฑ์คุมเข้ม

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้ มองว่าการเติบโตยังเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินมีการคัดกรองลูกค้ามากขึ้น และแข่งขันชิงลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพ โดยเสนออัตราดอกเบี้ยจูงใจ หรือใช้แคมเปญ 0% เพื่อดึงลูกค้ากลุ่มดังกล่าว

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินมีการคาดการณ์ว่าภายในไตรมาสที่ 2/2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกหลักเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นไปตามแผนการดูแลหนี้ครัวเรือนและการก่อหนี้ใหม่ คาดว่าจะมีหลักเกณฑ์การจำกัดวงเงินปล่อยสินเชื่อ ทำให้การเติบโตของสินเชื่อบุคคลจะโตยากขึ้น

“การแข่งขันดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าประวัติดี ซึ่งหายาก และเหลือไม่เยอะ ทำให้แบงก์มีการตัดราคากัน และดึง 0% มาใช้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของซีไอเอ็มบีฯ ก็มีโปรโมชั่นดอกเบี้ย 5.5% หรือดอกเบี้ยเริ่มต้น 9.9% ผ่อน 12 เดือน สมัครผ่านโมบายแบงกิ้งได้ โดยปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 6,000 ล้านบาท ช่วง 3-4 เดือนแรกได้มาราว 1,500 ล้านบาท ถือว่าตามเป้าหมายพอดี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวอย่างผู้ประกอบการที่ทำแคมเปญสินเชื่อบุคคล ดอกเบี้ย 0% อาทิ บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (CardX) ได้ทำแคมเปญเมื่อสมัคร บัตรกดเงินสด speedy cash เงินสดทันใจ พร้อมใช้เมื่อจำเป็น โดยสมัครตั้งแต่วันนี้-30มิถุนายน 2566 คิดอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 3 รอบบัญชี

แบงก์รุมทึ้งตลาดผลตอบแทนสูง

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางธุรกิจสินเชื่อบุคคล ภายใต้ระบบธนาคารพาณิชย์ ยังคงเป็นตลาดที่สถาบันการเงินให้ความสนใจ และเป็นธุรกิจเป้าหมายของหลาย ๆ ธนาคารที่จะมุ่งไป เนื่องจากเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูง (high yield) อย่างไรก็ดี ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ทำให้ธนาคารก็มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และหาลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯประเมินการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลปี 2566 จะขยายตัวในกรอบ 5.5-8.5% จากปี 2565 เติบโตอยู่ที่ 4.3% ส่วนหนึ่งที่ขยายตัวต่ำเป็นผลมาจากมีการโอนขายพอร์ตธุรกิจของสถาบันการเงิน เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 37.7% เนื่องจากตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม 2564 ธนาคารพาณิชย์บางแห่งปรับการรายงานข้อมูลสินเชื่อธุรกิจบางประเภท มารายงานในแบบรายงานสินเชื่อส่วนบุคคล จึงทำให้สินเชื่อเติบโตสูง


“ตลาดสินเชื่อบุคคลปีนี้ยังเป็นตลาดที่แบงก์ยังคงให้ความสนใจ และตั้งเป้าการเติบโต แต่ในภาวะเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว การหาลูกค้าความเสี่ยงต่ำอาจไม่ง่าย ดังนั้น แม้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้ให้ผลตอบแทนสูง แต่ธนาคารก็ต้องระวังเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งเราให้กรอบโตที่สูง เพราะส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำของปีก่อนด้วย”